สธ.สั่งคุมเข้ม “อีโบลา” หลังระบาดแรงในทวีปแอฟริกา ตรวจเข้มสนามบินสุวรรณภูมิ คัดกรองผู้เดินทาง โดยเฉพาะจากยูกันดา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศในทวีปแอฟริกา ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 ราย ถึงแม้ผู้ติดเชื้อจะยังไม่มาก และองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้ประกาศให้การระบาดครั้งนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC)
โดย สธ.ได้ติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด และตั้งแต่ ก.ย.เป็นต้นมาได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เนื่องจากโรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดาทุกคน โดยต้องลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้นำมาตรการตรวจคัดกรอง ป้องกันและควบคุมโควิด19 มาใช้ในการดูแลคัดกรองและป้องกันโรคในครั้งนี้
โรคอีโบลา : ในกลุ่มโรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลาซึ่งเป็นโรคติดต่อรุนแรง ระบาดมากในประเทศแถบแอฟริกา ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนใช้ป้องกันไวรัสอีโบลา การรักษาทำได้แค่ประคับประคองและใช้ยาต้านเชื้อโรค ป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน เชื้อมักจะแฝงตัวมากับนักท่องเที่ยว ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น เลือดของผู้ติดเชื้อ มีระยะการฟักตัว 2-21 วัน
อาการ : ส่วนใหญ่จะมีไข้สูงทันที อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะ เจ็บคอ ก่อนจะมีอาการท้องเดิน อาเจียน มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ตับและไตมีอาการผิดปกติ มีโอกาสเสียชีวิตสูง