โรคลมหลับ (Narcolepsy) เป็นโรคที่มาจากปัญหาการนอนหลับเรื้อรัง ง่วงนอนตลอดเวลา หลับได้โดยไม่รู้สึกตัว และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำควรปรึกษาแพทย์ ด้าน นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยมักจะมีอาการง่วงมากในตอนกลางวัน แม้ว่าตอนกลางคืนจะนอนหลับสนิทอย่างเพียงพอ และบางครั้งพบว่ามีการนอนหลับเกิดขึ้น ในสถานการณ์ไม่เหมาะสม เช่น เกิดขึ้นขณะพูดคุยกับบุคคลอื่น ขณะรับประทานอาหาร ทำงาน เรียน เล่นเกมส์ หรือ ขับรถ อาจเกิดอันตรายได้
ง่วงนอนตลอดเวลา สาเหตุ โรคลมหลับ?
สาเหตุของ โรคลมหลับ ในทางการแพทย์ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาท ที่ชื่อ โอเร็กซิน (Orexin) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการตื่นของร่างกาย ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้สารเคมีชนิดนี้ลดลง ส่งผลให้มีอาการหลับง่ายกว่าปกติ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติด้านการนอนหลับ ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงได้
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการแสดงที่สำคัญ นอกจากจะมีภาวะง่วงนอนมากผิดปกติ ในตอนกลางวันแล้ว ผู้ป่วย โรคลมหลับ อาจมีอาการภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ภาวะผีอำ หรือ sleep paralysis โดยที่ไม่สามารถขยับตัวได้ตอนที่กำลังใกล้จะตื่น และมีอาการเห็นภาพหลอน ตอนขณะเคลิ้มหลับ แพทย์วินิจฉัยโรค จากการสอบถามประวัติโรคประจำตัว และยาที่ใช้เป็นประจำ เนื่องจากอาจมีปัจจัยภายนอกอย่างอื่น ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคลมหลับ ในรายที่แพทย์สงสัยอาการเข้าข่ายกับโรคนี้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยบันทึกการนอน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ และส่งตรวจการนอนหลับ (polysomnogram) ร่วมกับการตรวจความง่วงนอน (multiple sleep latency test) ในปัจจุบัน แม้ว่ายังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถให้การรักษา เพื่อบรรเทาอาการได้ โดยการใช้ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่เหมือนคนปกติ