ความอับอาย มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ยิ่งจากกระแสดราม่าในสังคม และโซเชียลมีเดีย คนไม่น้อยคงเคยประสบเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความอับอาย ความรู้สึกนี้มักจะตามมาด้วยความพยายามที่จะหลบหนีผู้คน เพราะอยากลืมความรู้สึกแย่ๆ นอกจากความอายในความผิดของตัวเองแล้ว สิ่งที่ทำให้รู้สึกแย่หนักกว่าเดิมคือ ‘Naming and shaming’ หรือการประจานจากคนรอบข้างหรือคนในสังคม ถ้าโดนแบบนี้ ขอให้ตั้งสติ และทำตามคำแนะนำดังนี้ โดยใช้ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นตัวช่วย!!
How To 3 วิธีจัดการความอับอาย ด้วยความฉลาดทางอารมณ์
1. อย่าปล่อยให้ตัวเองจมดิ่ง เพราะความ อับอาย
คนที่จมกับความรู้สึก อับอาย มักมีแนวโน้มที่จะอยู่กับตัวเอง และคิดมากไปซะหมดทุกเรื่อง พอเป็นซะแบบนี้ ก็จะมองไม่เห็นความจริง เมื่อเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นก็ตาม ก็มักจะเอาแต่โทษว่า “เป็นความผิดของฉันเองคนเดียว” นอกจากจะเป็นการซ้ำเติมตัวเองแล้ว ยังทำให้สิ้นหวังและหาทางออกไม่เจอหนักกว่าเก่า ใครซ้ำเรา ก็ไม่เท่าเราซ้ำเติมตัวเอง ซึ่งความคิดแบบนี้นี่ล่ะ ที่ทำให้เรารู้สึกไร้ค่า และทำให้สุขภาพจิตเสียในที่สุด
โดยปกติคนเรา ถ้าไม่โทษตัวเอง ก็โทษคนอื่น เมื่อรู้สึกอาย เรามักจะเก็บความรู้สึกไม่ดีไว้ในใจ บางคนถึงขนาดหนีจากโลกความเป็นจริง การแสดงออกแบบหนึ่งก็คือ หงุดหงิด โทษคนอื่น ไม่ยอมยอมรับผิด หรืออีกทางคือเอาใจคนอื่นจนผิดปกติ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่จะวิธีไหนก็ตาม ล้วนเป็นการกลบเกลื่อนความรู้สึกที่แท้จริงไม่ให้ใครเห็น ถ้าไม่ยอมรับสาเหตุที่ทำให้อับอาย ก็จะโดนความรู้สึกนี้กัดกินไปเรื่อยๆ
2. อย่าอายเพราะถูกตัดสิน
ที่จริงแล้วความ อับอาย เป็นกลไกอย่างหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เป็นตัวบังคับให้คนในสังคมปฏิบัติตามธรรมเนียม เมื่อสังคมมีกฏเกณฑ์ที่อยากให้คนทำตาม เพื่อให้เกิดความสามัคคีและไปในแนวทางเดียวกัน แถมในอดีต ยังถูกใช้เป็นตัวชี้วัดว่า ใครคือผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ซึ่งปัจจุบันนี้เราก็ยังสามารถเห็นการจำนนต่ออำนาจในรูปแบบคล้ายๆ กัน เมื่อมีใครต้องตกเป็น จำเลยสังคม และถูกตัดสิน หรือประจานจากพฤติกรรมของตัวเอง
ในแง่ของพัฒนาการทางด้านอารมณ์ ความอับอาย เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ที่ซับซ้อน และมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเด็กส่วนมากจะมีความผูกพันกับพ่อแม่ หรือผู้ที่เลี้ยงดู และอยากให้ทำพอใจ โดยจะรู้สึกอับอายทันที ที่เมื่อทำให้ผิดหวัง จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ในวัยที่โตขึ้นจนมาถึงเมื่อผู้ใหญ่ ความเจ็บปวดจากการถูกล้อเลียน ไปจนกระทั่งการถูกแบนจากเพื่อนหรือคนรอบตัว จะนำมาซึ่งความอับอาย
3. คุยกับตัวเองดีๆ เคารพ และยอมรับตัวเอง!!
วิธีจัดการกับความรู้สึก อับอาย ที่ดีที่สุด คือเริ่มจากการ “ยอมรับ” ยิ่งเก็บความรู้สึกไว้กับตัวเท่าไหร่ “ความรู้สึก” ยิ่งฝังลึกขึ้นเท่านั้น การค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และเผชิญหน้ากับสิ่งนั้น จึงเป็นทางเดียวในการเยียวยาจากความเจ็บปวด เมื่อรู้สาเหตุ เราจึงจะสามารถกลับมาควบคุมอามรณ์ และกลับมาใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นได้
สิ่งต่อมาที่ควรทำคือ พูดกับตัวเองดีๆ หรือให้รู้จักเมตตาต่อตัวเอง เคารพ และพยายามทำความเข้าใจ ในสิ่งที่ที่ตัวเองรู้สึก แบบเดียวกับที่เราพยายามเข้าใจคนอื่น พูดง่ายๆ คือ อย่าซ้ำเติมตัวเอง และควรให้กำลังใจตัวเอง เหมือนที่เราจะให้กำลังใจคนรอบข้าง ลองถามตัวเองดูว่า “ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับเพื่อนเรา เราจะพูดแบบนี้กับเขามั้ย” ถือเป็นคำถามเตือนสติ ไม่ให้เราจมดิ่งไปกับความรู้สึกผิด และซ้ำเติมตัวเอง
การเลือกใช้วิธีเหล่านี้ในทาง “จิตวิทยา” ถือเป็นการช่วยเพิ่มความมั่นใจ และความเคารพตัวเอง ทำให้เรารู้สึกมีค่า ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น และลดความเสี่ยงที่จะรู้สึกอยากหนี หรืออยากตอบโต้ เมื่อถูกทำให้เกิดความรู้สึกอับอาย เมื่อเรารู้จักตัวเอง และควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้
สุขภาพจิตก็จะแข็งแรงไปเอง.ที่มา : YourNextU ศูนย์รวมวิชาชีวิต พร้อมเสริมทักษะที่ในตำราไม่ได้สอน! อยากรู้จัก YourNextU มากกว่านี้ คลิก ที่นี่ ผู้อ่านคนไหนสนใจเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์ จัดการทุกความรู้สึก ควบคุมทุกสถานการณ์ได้อยู่หมัด ให้ใช้ชีวิตอย่างแฮปปี้ ไม่มีคำว่าบูด มาฝึกใช้อารมณ์อย่างฉลาด ด้วยวิชา Emotional Intelligence กดเลย!!