ปม “ราษฎร” ศาล รธน.ชี้ ไม่รวมผู้ไม่ได้สัญชาติไทย ส่งผลให้ 8 จังหวัด จำนวน ส.ส.เขตแปลงเปลี่ยน…
กรณีคำร้องที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ ในการประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 ซึ่ง กกต.คิดคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ตามที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ ณ วันที่ 31 ธ.ค.ของปีที่ล่วงมา มาคิดคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ต่อมามีผู้โต้แย้งและขอให้ผู้ร้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกำหนดจำนวนสมาชิก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัด จะพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ที่ประกาศในปีสุดท้าย ก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น
คำว่า “ราษฎร” ไม่รวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลตั้งแต่วันนี้ (3 มี.ค.) เป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา
จากคำวินิจฉัย จะมีผลให้ กกต.จะต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ โดยจะต้องไม่นำผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวน ณ เบื้องต้นการคำนวณใหม่จะทำให้ 8 จังหวัดมีความเปลี่ยนแปลง คือ
4 จังหวัด มีจำนวน ส.ส.ลดลง ได้แก่ ตาก เชียงราย เชียงใหม่ และสมุทรสาคร
ส่วนจังหวัดที่จำนวน ส.ส. เพิ่ม คือ อุดรธานี ลพบุรี นครศรีธรรมราช และปัตตานี
และจากการคำนวนโดยนำเฉพาะจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั่วประเทศ 65,106,481 หารด้วย 400 เขต จะมีค่าเฉลี่ยประชากรต่อ 1 เขต ที่ 162,766 คน จากเดิมค่าเฉลี่ยที่นับรวมบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย คือ 165,226 คนต่อเขต