อื้อหือ…วันนี้ TOPPIC Time มาชวนคุยเรื่อง เซ็กซ์ เมื่อพูดถึง เซ็กซ์ หรือการมี เพศสัมพันธ์ คนส่วนมากมักมองแค่เป็นเรื่องบนเตียง แต่ในความเป็นจริง…การมี เซ็กซ์ ที่ดีนั้น จะช่วยเสริมสุขภาวะทางเพศที่ดีของคู่รักอีกด้วย จริงมั้ย????
ปัจจุบันนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “การสื่อสารความสัมพันธ์” (Relationship) ของคน 2 คน ตามความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้จำกัดเพียงชายหรือหญิง ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจความต้องการของกันและกัน เป็นแนวทางในการปรับจูนความสัมพันธ์ บนความยินยอมพร้อมใจ อันจะช่วยเติมเต็มชีวิตคู่ให้แข็งแรง มีความสุขที่ยั่งยืน
“เซ็กซ์” ที่ดีคืออะไร? เพศสัมพันธ์ “สุขภาพทางเพศ” ที่คุณไม่เคยรู้!
ด้าน นพ.พลวัฒน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟู บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก อธิบายถึงการมีสุขภาวะทางเพศ ว่า นอกจากเรื่องของ เพศสัมพันธ์ แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก และความพึงพอใจที่เกิดขึ้นระหว่างมีกิจกรรมทางเพศ โดยเชื่อมโยงกับเพศสภาพต่างๆ ด้วย
เพศ ปัจจัยที่ทำให้คุณภาพ “ชีวิต” ดี
ประเทศไทยมีการพูดคุยเรื่องสิทธิทางเพศ และการให้ความสำคัญทางเพศ รวมทั้งมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2550 บนแนวคิดที่ว่า สุขภาพทางเพศ เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กระนั้นปัญหาสุขภาพทางเพศนั้น ก็มีความซับซ้อนที่มากกว่าแค่เรื่องของสุขภาพทางร่างกาย บ่อยครั้งพบว่า มีเรื่องของจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เช่น ความกังวล ความเครียด รวมไปถึงเรื่องสภาพสังคมในปัจจุบัน ด้วยความที่มีความหลากหลายค่อนข้างมาก สังคมจึงมีกรอบของการแสดงออกในระดับหนึ่ง แม้แต่ในคู่รักหลายๆ คู่ ยังมีความตะขิดตะขวงใจที่จะพูดคุยกันตามตรง นานวันเข้าเกิดเป็นความอึดอัดคับข้องใจ และส่งผลกระทบการมีสุขภาวะทางเพศที่ดี
ฮอร์โมนเพศ มีผลต่อ สุขภาพทางเพศ
“ฮอร์โมน” เป็นอีกเรื่องในอันดับต้นๆ ที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึง นพ.พลวัฒน์ กล่าวว่า ฮอร์โมน เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เป็นตัวส่งสัญญาณการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องทางด้านเพศ นอกจาก ฮอร์โมนเพศ คือ “เทสทอสเทอโรน” ในผู้ชาย และ “เอสโตรเจน” และ “โปรเจสเตอโรน” ในผู้หญิงแล้ว ยังมีฮอร์โมนกลุ่มอื่นที่ส่งผลต่อ สุขภาพทางเพศ เช่นกัน คือ “ฮอร์โมนไทรอยด์” ที่ควบคุมการเผาผลาญของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ถ้ามีน้อย ร่างกายจะอ่อนเพลีย ย่อมส่งผลต่อสุขภาวะทางเพศด้วย และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มฮอร์โมนความเครียด อย่าง “คอร์ติซอล” รวมทั้ง “เซโรโทนิน” และ “เมลาโทนิน” ซึ่งเป็นเรื่องของการผ่อนคลาย การมีความสุข และการนอนหลับ
แฮปปี้ฮอร์โมน ขณะมี เพศสัมพันธ์
การมี เพศสัมพันธ์ ยังเป็นกลไกหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์มี แฮปปี้ฮอร์โมน ช่วงที่มีเพศสัมพันธ์ จะมีฮอร์โมนหลายตัว ที่เป็นแฮปปี้ฮอร์โมนหลั่งออกมา เช่น “เอ็นดอร์ฟิน” ทำให้ผ่อนคลายมีสุข และ “ออกซิโทซิน” ที่จะหลั่งเมื่อมีความรักซึ่งกันและกัน ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองแนบแน่นมากยิ่งขึ้น
ไม่ชอบการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ถือว่าผิดปกติ แต่ถ้าชอบ คือโบนัสชีวิต!
แม้ว่าการมีกิจกรรมทางเพศที่เหมาะสม และโดยการยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีสุขภาวะทางร่างกายสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่สำหรับผู้ที่ไม่ชอบการมี เพศสัมพันธ์ ก็ไม่ได้ถือว่าผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากประสบการณ์ก่อนหน้า หรือทัศนคติของแต่ละบุคคล ฉะนั้นการมีหรือไม่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ได้เป็นปัจจัยเพียงอย่างเดียว ที่ทำให้ชีวิตคนเรายืนยาวขึ้น หรือสั้นลงแต่อย่างใด หากแต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ถ้ามีอย่างเหมาะสมและถูกต้อง จะได้รับการผ่อนคลายที่ดีขึ้น เป็นโบนัสของชีวิต
ความเครียด ทำให้ ฮอร์โมนเพศ ลดลง
อย่างไรก็ตาม บางครั้งปัญหาฮอร์โมนลดลง ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น เนื่องจากด้วยสภาพการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความเครียด ทำให้ ฮอร์โมนเพศ ลดลง โดยเริ่มพบได้มากขึ้นในผู้ชายที่อายุ 30 ตอนปลาย หรือ 40 ปี มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศหรืออารมณ์ อาจแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือหากจำเป็นก็สามารถรับประทานอาหารเสริม ที่สนับสนุนการสร้างฮอร์โมน หรือการใช้ฮอร์โมนทดแทนทางการแพทย์ ซึ่งจะต้องมีการตรวจประเมิน เพื่อความเหมาะสมในการรักษา
ทัศนคติทางเพศ ต้องสนับสนุนกัน
การมีสุขภาวะทางเพศที่ดีนั้น นพ.พลวัฒน์ ย้ำว่า ต้องเริ่มต้นที่ตัวบุคคลก่อน ประการแรกคือ การที่คู่รักสามารถแสดงออก ทัศนคติทางเพศ อย่างมีอิสระมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ชัดเจนและแนบแน่นมากขึ้น มีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่มีการบังคับ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการสื่อสารในแง่ของความรู้สึก โดยเฉพาะขณะมีกิจกรรมทางเพศร่วมกัน จะช่วยให้มี เพศสัมพันธ์ ที่สมบูรณ์และสมดุลมากยิ่งขึ้น
How To ตัวช่วยที่ทำให้มี เพศสัมพันธ์ ดีขึ้น
ประการต่อมาคือ การใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่ถูกต้อง เช่น
1. “รับประทานอาหาร” ที่เหมาะสม ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
2. “ออกกำลังกาย” สม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 150 นาที ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือหนักเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าและเครียดได้ กลายเป็นผลเสียต่อร่างกาย
3. “การนอน” เฉลี่ยวันละ 7-8 ชั่วโมง โดยพบว่าการนอนน้อยลง 1 ชั่วโมง ส่งผลให้มีแนวโน้มในการสร้าง ฮอร์โมนเพศ ลดลง
4. “ความเครียด” ปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลกระทบมากๆ ซึ่งอยากให้ทุกคนหาวิธีการผ่อนคลายความเครียด ให้มีอารมณ์เป็นบวกให้มากเข้าไว้ การมีไลฟ์สไตล์ที่ถูกต้องเป็นรากฐานที่ดีของการมีสุขภาพร่างกายที่ดี ย่อมส่งเสริมการมีสุขภาวะทางเพศที่ดี
5. ทัศนคติในระดับสังคม เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพทางเพศที่ดีเช่นกัน การเริ่มต้นให้ความรู้ในเรื่อง สุขภาพทางเพศ ที่ถูกต้อง การส่งเสริมความเข้าใจและทัศนคติ
6. การสื่อสาร ทัศนคติทางเพศ อย่างเหมาะสม ในเวลาและกาลเทศะที่สมควร จะทำให้บุคคลสามารถตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับ สุขภาพทางเพศ ของตนเองได้ดียิ่งขึ้น เพราะบางครั้งการปิดกั้นไม่ให้รู้ และไม่มีข้อมูลเพียงพอ อาจจะทำให้เกิดผลเสียได้
ปัจจุบันก็มีหลายหน่วยงานมากๆ ที่เข้ามาช่วยในการให้คำปรึกษาในเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับการปรึกษาก่อนแต่งงาน การคุมกำเนิด ดูแลโรคประจำตัว หรือโรคที่เป็นอยู่ให้อยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ การปรับสมดุลฮอร์โมนเพื่อชะลอความเสื่อมของสภาพร่างกาย การเข้ารับคำปรึกษาปัญหาครอบครัวและสุขภาพจิต ทุกอย่างต้องสอดประสานกันในระดับบุคคลและสังคม เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี
ทั้งนี้ TOPPIC Time มองว่า การเปิดใจคุยกันของ “คู่รัก” เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด แต่ถ้าปรับแล้วยังไม่สบายกายไม่สบายใจ ก็สามารถขอรับการปรึกษาจากผู้ชำนาญการได้ เพราะปัญหา สุขภาพทางเพศ สามารถป้องกัน และแก้ไขได้ด้วยการดูแลเชิงป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ.