นี่หรือคือ โจรออนไลน์ ที่ทำให้โลกออนไลน์เปลี่ยนไป และทำคนไทยถูกหลอกแล้วกว่า 2 แสนเคส มูลค่ากว่า 3.1 หมื่นล้านในรอบปี 2565 ซึ่งมีรูปแบบอะไรบ้าง!? ที่ทำให้คนหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อมากที่สุด?? วันนี้ TOPPIC Time มีคำตอบมาบอก…
สถิติ โจรออนไลน์ 10 อันดับแรกรอบปี 2565 และยอด 3 เดือนแรกของปี 2566
เปิดสถิติแจ้งความออนไลน์ 10 อันดับแรกรอบปี 2565 (ตั้งแต่ 1 มี.ค.65 – 11 มี.ค.66)
1. หลอกลวงซื้อขายสินค้า 73,252 เรื่อง วงเงิน 955,427,866 บาท
2. หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม 29,945 เรื่อง วงเงิน 3,323,194,517 บาท
3. หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 24,821 เรื่อง วงเงิน 1,034,104,918 บาท
4. แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง 20,013 เรื่อง วงเงิน 3,505,338,808 บาท
5. หลอกให้ลงทุน (ที่ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกงประชาชน) 16,460 เรื่อง วงเงิน 7,661,884,637 บาท
6. หลอกลวงซื้อขายสินค้า(เป็นขบวนการ) 8,036 เรื่อง วงเงิน 57,293,969 บาท
7. หลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน 7,285 เรื่อง วงเงิน 254,219,605 บาท
8. หลอกให้โอนเงิน (ไม่เป็นขบวนการ) 5,286 เรื่อง วงเงิน 369,123,851 บาท
9. หลอกให้รักแล้วลงทุน 3,201 เรื่อง วงเงิน 1,556,536,563 บาท
10. หมิ่นประมาท ดูหมิ่น 3,171 เรื่อง วงเงิน 11,641,372 บาท
รวมมีผู้แจ้งความ 218,210 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 31,579,305,746 บาท
สถิติ โจรออนไลน์ รอบ 3 เดือนแรกของปี 2566
ตามสถิติแค่รอบสัปดาห์แรกของเดือน มี.ค.2566 (5-11 มี.ค.) พบคดีออนไลน์ 5 อันดับแรก ได้แก่
1. คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า
2. คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม
3. คดีคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง
4. คดีหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน และ
5. คดีหลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน
รวมผู้แจ้งความ 5,787 เรื่อง พบมูลค่าความเสียหาย รวม 377,284,886 บาท
รูปแบบแห่งการหลอกลวง คือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์
– ความถี่ภัยออนไลน์ : ในเรื่อง โจรออนไลน์ พบว่าคดีหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากที่สุด โดยแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง และได้โทรศัพท์หาผู้เสียหายให้ตรวจสอบสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในเว็บไซต์ ให้เพิ่มเพื่อนใน line แล้วส่งลิงก์ปลอมกดเข้าไป กรอกข้อมูล จนมือถือถูกควบคุม และดูดเงินออกไป
How To วิธีการป้องกันแอปพลิเคชั่นหลอกลวง – ลิงก์ดูดเงิน
- ไม่ผูกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ไว้ในแอปต่างๆ
- หากจำเป็นให้ยกเลิกการผูกบัตรเมื่อใช้งานเสร็จ หรือจำกัดยอดวงเงินไว้
- หากถูกหลอกขอให้ตั้งสติ และให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจถูกหลอก
- ดูเบอร์โทรที่โทรมา หากมีเครื่องหมาย + นำหน้า แสดงว่าโทรมาจากต่างประเทศ
- ห้ามโหลดลิงก์จากคนที่เราไม่รู้จัก (นอก play store/app store)
- ไม่บอกรหัสใดๆ ที่แจ้งมาให้ผู้อื่นทราบ
- ตัดสัญญาณ เมื่อเกิดอาการ “หน้าจอค้าง” ต้องรีบตัดสัญญาณ โดยปิดเครื่อง/ปิดเราเตอร์/ถอดซิมการ์ด
ทั้งนี้ มูลค่าที่ต้องสูญเสียมากขนาดนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่คนไทยในสังคม ต้องนำกลับมาพิจารณาทบทวน และหาวิธีการป้องกันให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงภาครัฐเองก็ต้องไม่มองข้าม และหาวิธีการ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีมาป้องกัน และดูแลอย่างเต็มที่
ที่มา : คณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี