จากโรค มะเร็ง ทั้งหมดที่มีอยู่ มะเร็งปากมดลูก คือสาเหตุการเสียชีวิตลำดับ 2 ของผู้หญิงวัยทำงานในประเทศไทย รองจากมะเร็งเต้านม ในหนึ่งวัน พบหญิงไทยเป็น โรคมะเร็งปากมดลูก ถึง 25 คน คิดเป็น 9,158 คนต่อปี และเสียชีวิตถึงวันละ 13 คน ตัวเลขที่น่ากลัวนี้ ยังไม่เท่าการที่ผู้เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้วทั้งชายและหญิง กว่า 80% มีโอกาสติดเชื้อ HPV อันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยไม่มีอาการใดๆ ซึ่งเป็นภัยเงียบ ที่อาจพัฒนาเป็นมะเร็งได้เมื่อเวลาผ่านไป
ภายในงานเสวนา Road to Zero HPV มิชชันลดมะเร็งปากมดลูกในไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐบาล อันมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจในโรคมะเร็งปากมดลูกให้กับบุคคลทั่วไป ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ถึง 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งประเทศไทย (สปสช.) มาเป็นวิทยากรภายในงาน และยังมี คุณสมควร สระทองแก่น อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้วย
จาก HPV สู่มะเร็งปากมดลูก ความเสี่ยงรอบตัวที่ไม่ควรมองข้าม
HPV คือ?
เริ่มที่ นพ.วิทยา ที่ได้กล่าวถึงข้อมูลเบื้องต้นของโรคชนิดนี้ว่า “HPV หรือ Human Papillomavirus คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะที่ชอบเกาะอยู่ตามพื้นผิวชื้นแฉะตามร่างกายคน พบได้มากตามช่องคลอดเพศหญิง ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก หูดหงอนไก่ ฯลฯ
ความน่ากลัวของ HPV
ความน่ากลัวของ HPV คือถึงแม้ร่างกายคนส่วนใหญ่ จะสามารถขจัดไวรัสไปได้ด้วยตนเอง แต่ก็อาจยังมีส่วนน้อย ที่จะฟักตัวอยู่ในร่างกายต่อไปอีก 10-20 ปี โดยไม่แสดงอาการ นอกจากจะทำให้เซลล์ตรงส่วนที่ไวรัสฟักตัวอยู่ กลายเป็นเซลล์ มะเร็ง แล้ว ระหว่างนั้นผู้ติดเชื้อก็อาจกลายเป็นพาหะที่ส่งต่อไวรัสสู่คู่นอนคนอื่นได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นคือเชื้อ HPV สามารถเกาะอยู่ตามพื้นผิวสัมผัสต่างๆ ได้ในระยะเวลาหนึ่ง ฉะนั้นการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ก็มีโอกาสรับเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน
How To ตรวจ ค้นหา HPV
โดยในช่วงแรก การติดเชื้อ HPV ไม่ได้แสดงอาการให้เห็นชัดนัก การตรวจคัดกรองเชิงรุก จึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชน สามารถรู้ตัวและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที ในประเทศไทยมีการตรวจหาเชื้อ HPV อยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่
1. ตรวจ PAP Smear (แป๊บสเมียร์) กับสูตินรีแพทย์ ซึ่งเป็นวิธีตรวจผ่านการสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด และนำเซลล์มดลูก ส่งแล็บเพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ
2. ตรวจ HPV DNA Testing เป็นการตรวจลึกถึงระดับดีเอ็นเอ ดูการติดเชื้อ HPV ซึ่งมีความแม่นยำสูง ช่วยให้ประเมินความเสี่ยงของโรคได้ตั้งแต่เริ่ม
ทำไมวัคซีนป้องกัน HPV จึงสำคัญ ในเมื่อร่างกายเราขจัดเชื้อได้เอง
อย่างที่กล่าวว่า ปกติแล้วร่างกายคนเราสามารถขจัดเชื้อไวรัส HPV ออกไปได้เอง เหลือเพียง 10% ที่อาจตกค้างอยู่เท่านั้น หลายคนเห็นดังนี้ก็อาจรู้สึกว่าการป้องกันไม่ได้จำเป็นนัก เพราะเชื่อมั่นในความแข็งแรงของร่างกายตนเอง ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ ได้อธิบายถึงความแตกต่างและความสำคัญที่ทำให้เราต้องฉีดวัคซีนไว้ ว่า
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันไวรัส HPV มี 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดป้องกันได้ 2 สายพันธุ์, ชนิดป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ และชนิดป้องกันได้ 9 สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละชนิด มีประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อไวรัสได้แตกต่างกัน
โดยชนิด 2 สายพันธุ์ ป้องกัน เชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ป้องกันสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ 70%, ชนิด 4 สายพันธุ์ ป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ได้เช่นเดียวกับ ชนิด 2 สายพันธุ์ และเพิ่มเติมการป้องกัน HPV สายพันธุ์ 6,11 ที่เป็นสาเหตุถึง 90% ที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ บริเวณอวัยวะเพศทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้
นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดหูดในทางเดินหายใจของเด็กแรกเกิด ซึ่งอาจทำให้เด็กเสียชีวิต เนื่องจากแม่ติดเชื้อ HPV ได้ ส่วนวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ ป้องกัน HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ซึ่งสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูก และหูดหงอนไก่ และหูดที่ทางเดินหายใจได้ถึง 90% โดยการทำงานของวัคซีน คือการให้ร่างกายได้ทำความคุ้นเคย กับเชื้อไวรัสที่ไม่ทำให้เกิดโรคแล้ว จากนั้นภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นขึ้นมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสจริง
9 ขวบก็ฉีดได้แล้ว
ในทางการแพทย์ แพทย์แนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ทุกเพศตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป แต่เหมาะสมที่สุดในอายุ 9-15 ปี เพราะเป็นวัยที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด อีกทั้งฉีดครบคอร์สแล้ว สามารถให้การป้องกันการติดเชื้อไปได้ยาวนาน โดยไม่ต้องฉีดกระตุ้นซ้ำอีก น.พ.สมศักดิ์ ยังแนะนำว่า เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ฉีดเพียงแค่ 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน และถ้าอายุมากกว่า 15 ปี ควรฉีด 3 เข็ม ห่าง 0, 1-2 และ 6 เดือน โดยแนะนำให้ฉีดได้ทุกเพศ โดยการฉีดในผู้ชาย นอกจากจะลดการเกิดโรคโดยตรง และลดความเสี่ยงการเป็นพาหะในการแพร่เชื้อ HPV อีกด้วย
ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่า การฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ไม่เกี่ยวกับการพร้อมให้ลูกมีเพศสัมพันธ์ แต่การป้องกันโรคไว้ก่อนย่อมดีกว่า เนื่องจากการฉีดวัคซีนในเด็ก ตั้งแต่ยังไม่เคยติดเชื้อจะให้ประสิทธิภาพดีที่สุด จึงขอแนะนำให้พาบุตรหลานของท่านเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ตามที่แต่ละโรงเรียนจะจัดนัดหมาย
และสำหรับผู้ที่อายุ 27 ปีขึ้นไป หรือมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็สามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ได้เช่นกัน โดยวัคซีนจะป้องกันสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยติด และป้องกันการติดเชื้อซ้ำในสายพันธุ์ที่เคยติดแล้ว
เสียงสะท้อน ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก
หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า อาการแรกเริ่มของ มะเร็งปากมดลูก เป็นอย่างไร ต้องรักษาในรูปแบบใด ใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะหายขาด ซึ่งภายในงานเสวนา นางสมควร สระทองแก่น อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้วย
“เราเคยเป็นผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก และต้องเข้ารับการรักษาประมาณปีกว่า ตลอดชีวิตก่อนหน้านี้ ไม่เคยเข้ารับการตรวจภายในมาก่อนเลย ในช่วงแรกเลยเริ่มจากการที่ประจำเดือนมาในปริมาณมากทุกวัน และมาไม่เป็นเวลา มีอาการปวดท้องหนักเมื่อประจำเดือนมา ในตอนแรกเข้าใจว่าเป็นผลข้างเคียงจากการที่อายุมากขึ้น กำลังเข้าใกล้วัยหมดประจำเดือน แต่เมื่ออาการหนักเข้า เราก็ต้องไปหาหมอ และก็ได้พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปากมดลูก และเข้าสู่ระยะที่สองแล้ว ณ เวลานั้นตกใจมาก ต้องตั้งสติ และนั่งทบทวนว่าจะรักษาอย่างไร วิธีการแบบไหน ก็ได้ความว่าต้องเข้ารับการฉายแสงและทำคีโมเป็นประจำด้วยระยะเวลามากกว่า 1 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท”
การตรวจคัดกรองและเข้ารับวัคซีนป้องกัน HPV
สำหรับบริการตรวจคัดกรองและเข้ารับวัคซีนป้องกัน HPV ฟรีเพื่อประชาชน นายแพทย์จักรกริช ได้กล่าวเสริมเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐว่า
“ทางสปสช. เล็งเห็นถึงอันตรายของ โรคมะเร็งปากมดลูก ที่ต้องเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด โดยมีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อดูแลโรคดังกล่าวอย่างครบวงจร ตั้งแต่ส่งเสริมการตรวจคัดกรองสำหรับหญิงไทยอายุ 30-60 ปี ให้มีสิทธิเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคนี้ทุก 5 ปีได้ฟรี ณ สถานพยาบาลที่มีรายชื่อสังกัดอยู่ และจัดบริการฉีดวัคซีนในโรงเรียนให้กับนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ทั่วประเทศกว่า 4 แสนราย ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินมาตลอด ตั้งแต่ก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 แม้จะมีการขาดช่วงไป เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด และมีปัญหาวัคซีนขาดตลาด แต่เราก็ได้กลับมาดำเนินการต่อในปี 2565 ซึ่งปีนี้ สปสช. สามารถจัดหาวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ให้กับนักเรียนชั้นป.5 ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ สปสช.ได้ส่งเสริมให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยสนับสนุนชุดตรวจ HPV DNA Testing เพื่อให้ประชาชนสามารถเก็บตัวอย่างได้ด้วยตนเอง เพื่อส่งตรวจมะเร็งปากมดลูก โดยคาดว่า จะสามารถเริ่มให้บริการได้ในเร็วๆ นี้ ตลอดจนพัฒนาสิทธิประโยชน์ในการดูแลการติดเชื้อ HPV ที่รับข้อเสนอจากคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข และอาจมีการพิจารณาเพิ่มช่วงอายุของเด็กและเยาวชน ที่ได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีน HPV รวมถึงเด็กผู้ชายในอนาคต เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยด้านสุขภาพให้คนไทยอีกด้วย”
มะเร็งปากมดลูก แม้เป็นโรคร้ายสำหรับทุกคนในสังคม แต่ก็สามารถป้องกันได้ไม่ยาก โดยการฉีดวัคซีน HPV ในประชาชนทุกเพศ ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป และเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอทุก 5 ปี เมื่อมีอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่สำหรับผู้เคยตรวจพบมะเร็งปากมดลูก และรักษาหายแล้ว ก็ยังต้องมีการเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำ
โดยทางการแพทย์แนะนำให้ประชาชนทุกคน ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติการป่วยเป็นมะเร็งมาก่อน รวมถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เข้ารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ามีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงตลอดเวลา สามารถรับการรักษาได้ทันท่วงที หากตรวจเจอความผิดปกติ เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน