เรื่องเล่าของ นิ่ว ที่หลายคนไม่รู้ตัว!!
ผู้ป่วยบอก: มีอาการปวดท้องน้อยนานหลายเดือน แต่ยังทนไหว โดยเป็นๆ หายๆ
หมอ : ออกปากเตือน นี่คือสัญญาณเตือนภัยในระบบร่างกายคน เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น จะมีสิ่งที่บอกเหตุ อาการรวน หรือไม่ปกติ อย่างแรกที่ต้องคิดถึงคือ หาสาเหตุเพื่อแก้ไข อย่าคิดว่า เดี๋ยวก็ง่ายไปเอง
TOPPIC Time ขอนำเคสตัวอย่างมาให้ศึกษา จาก รพ.นครพิงค์ เวชระเบียน ระบุว่า ผู้ป่วยชายอายุ 74 ปี มารับการตรวจที่โรงพยาบาล ด้วยอาการปวดท้องน้อย ผสมกับปัสสาวะเป็นสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ เป็นๆ หายๆ ปัสสาวะบ่อย กระปริดกระปรอยมาหลายเดือน
ผลการตรวจเอกซเรย์พบว่า มี นิ่ว ในกระเพาะปัสสาวะขนาดใหญ่มาก วัดได้ 10.2×8.6 ซม. รวมถึงผู้ป่วยยังมีนิ่วในไตซ้ายขนาดใหญ่ด้วย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะของ รพ. จึงได้ทำการผ่าตัดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะออก พบว่า นิ่ว มีน้ำหนักถึง 707.6 กรัม โดยการผ่าตัดลุล่วงไปด้วยดี
พบคนไทยเป็น นิ่ว ทางเดินปัสสาวะ กว่าครึ่งแสนคนต่อปี
นพ.ประพนธ์ เปี่ยมอนันต์ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด รพ.นครพิงค์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน นิ่ว ในกระเพาะปัสสาวะ ขนาดยักษ์อย่างเช่นในกรณีนี้ พบได้ไม่บ่อย เนื่องจากการเข้าถึงการรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยจึงมักจะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม นิ่วที่มีขนาดใหญ่มากๆ เช่นนี้ก็ยังคงพบได้บ้าง
นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคที่พบได้บ่อย ในแต่ละปี…คนไทยป่วยเป็น นิ่วทางเดินปัสสาวะ มากกว่า 50,000 คน ในจำนวนนี้ราว 5% มักจะพบร่วมกับภาวะที่มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะพิการ จากโรคทางระบบประสาท เป็นต้น
อาการ นิ่ว ทางเดินปัสสาวะ
ผู้ป่วย นิ่วทางเดินปัสสาวะ จะมีอาการปวดท้องน้อย ปัสสาวะกระปริดกระปรอย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเป็นเลือด และมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ หากมีอาการดังนี้ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ
สาเหตุการเกิด นิ่วทางเดินปัสสาวะ
สำหรับ โรคนิ่วทางเดินปัสสาวะ พบได้ราวๆ 3-5% ของผู้ป่วยนิ่วในทางเดินปัสสาวะทั้งหมด เกิดได้ 2 รูปแบบ คือ
1. เกิดจากการเป็นนิ่วในไตมาก่อน แล้วเลื่อนหลุดลงมาสะสมเพิ่มขนาดในกระเพาะปัสสาวะ
2. เกิดในกระเพาะปัสสาวะเอง ซึ่งในกรณีนี้มักพบร่วมกับโรคหรือภาวะ ที่ทำให้ขับปัสสาวะได้ไม่หมด เช่น ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะพิการจากระบบประสาท ท่อปัสสาวะตีบ เป็นต้น
การรักษา นิ่วทางเดินปัสสาวะ
การวินิจฉัย นิ่วทางเดินปัสสาวะ สามารถทำได้จากการตรวจทางรังสี เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการส่องกล้อง การรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะในปัจจุบัน สามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดส่องกล้องทางท่อปัสสาวะ ซึ่งเหมาะกับนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ซม. การส่องกล้องทางหน้าท้อง และการผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งเหมาะกับนิ่วที่มีขนาดใหญ่ รวมไปถึงการรักษาโรคร่วมที่เป็นสาเหตุให้เกิดนิ่ว เช่น โรคต่อมลูกหมากโต ท่อปัสสาวะตีบ เพื่อป้องกันโอกาสที่จะเกิดนิ่วซ้ำ
วิธีป้องกันตนเองไม่ให้เป็น นิ่ว
1. ดื่มน้ำมากๆ ดื่มจนกว่าจะมีปัสสาวะ 2 ลิตร/วัน ยกเว้นกรณีป่วยเป็นโรคที่มีข้อห้ามในการดื่มน้ำมากๆ
2. ลดการบริโภคอาหารที่มีสารก่อนิ่ว เช่น กรดยูริก พบมากใน เนื้อสัตว์ เครื่องใน ยอดผัก กะปิ แอลกอฮอล์ และ “ออกซาเลต” พบมากใน ใบชา ผักโขม ผักปวยเล้ง ช็อกโกแลต และไม่ควรทานวิตามินซีเสริมมากกว่า 2,000 มิลลิกรัม/วัน
3. บริโภคอาหารที่มีสารยับยั้งนิ่วมากขึ้น เช่น ซิเตรท พบในผลไม้หลายชนิด เช่น ส้ม มะนาว อาหารที่มีกากใย ช่วยยับยั้งการดูดซึมสารก่อนิ่ว
4. บริโภคแคลเซียมแต่พอดี กับความต้องการในแต่ละวัน
5. ลดเค็ม ลดคาร์โบไฮเดรต ลดน้ำหนัก
ปัญหา สุขภาพ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม หรือขอไปที เพราะโรคต่างๆ ย่อมส่งผลเป็นวัฏจักรยาวจนชั่วชีวิต หลายคนมีความคิดว่า ไม่ขอเช็กร่างกาย หากเป็นอะไร ก็ขอให้จบไป เป็นความคิดที่ผิดมากๆ ซึ่งคุณหมอแนะนำมา หากพบแต่เนิ่นๆ มีโอกาสรักษาให้หาย บวกกับเทคโนโลยยี และวิวัฒนาการที่ทันสมัยทางการแพทย์ เรื่องนี้จึงต้องปรับ Mindset ให้ถูกต้อง เพื่อ “สุขภาพ” ของตัวเราเอง!!