ไข้เลือดออก ระบาดจนหวั่นใจ สำรวจสถิติสูงจนน่ากังวัล ล่าสุด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สั่งเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (EOC) เพื่อเข้ามาดูแลและควบคุมโรคนี้เป็นการเฉพาะ และเร่งด่วน
TOPPIC Time ขอนำสถิติล่าสุด ที่มีการเปิดผย การพยากรณ์ตามหลักระบาดวิทยา คาดว่าผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในปี 2566 อาจมีการระบาดอีกครั้ง พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2565 เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน ถึง 5.4 เท่า เป็นรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อนำ โดยยุงลายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก
ตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกทะยาน
- ปี 2566 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสัปดาห์ที่ 19 ของปี พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 15,399 ราย มากกว่าปี 2565 เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกันพบผู้ป่วย 2,942 ราย มากกว่าถึง 5.4 เท่า
- ผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก ยืนยันแล้วถึง 13 ราย
- พื้นที่ระบาด 5 จังหวัดแรกที่พบผู้ป่วยสูงสุดได้แก่ น่าน ตราด ชุมพร จันทบุรี และตาก
จากปัจจัย และตัวเลขทั้งหมดไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ และเข้าเกณฑ์ที่จะต้อง “เปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์” ของกรมควบคุมโรค เพื่อเร่งรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออกอย่างเร่งด่วน
-ระดมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่าล้านคน ผลักดันให้ประชาชนร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำยุงลายให้หมด
-สำรวจลูกน้ำยุงลายในภาชนะน้ำขังตามสถานที่ต่างๆ พบวัดสูงสุด (ร้อยละ 64.6) โรงเรียน (ร้อยละ 55.1) สถานที่ราชการและโรงงานถัดมา
-ลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกไม่เกินค่ามัธยฐาน ย้อนหลัง 5 ปี ภายในเดือนมิถุนายนและตลอดช่วงฤดูฝน (มิ.ย. – ส.ค.) และลดอัตราป่วยตายให้ไม่เกินร้อยละ 0.10
-สื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์เรื่องโรคไข้เลือดออก สอบถามข้อมูลสายด่วน กรมควบคุมโรค 1422
กลุ่มเสี่ยงของโรคไข้เลือดออกที่รุนแรง ได้แก่ น้ำหนักตัวมาก หญิงตั้งครรภ์ เด็กทารก มีโรคประจำตัว เช่น ธาลัสซีเมีย โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่มีหัวใจวาย ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ผู้ป่วยไตวาย ผู้ที่ได้รับยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารหรือยาที่มีผลต่อเกล็ดเลือด
เช็กอาการไข้เลือด เบื้องต้นแบ่งเป็น 3 ระยะ
- ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 5-7 วัน อาจจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรือจุดแดงตามร่างกาย แขน ขา บางรายอาจจะเบื่ออาหาร และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
- ระยะวิกฤต ต้องระวังมากที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการเพลียและซึม ปัสสาวะออกน้อย มีอาการปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณชายโครงขวา รวมถึงมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นสีดำ ในระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง มือเท้าเย็น ความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้
- ระยะฟื้นตัว เริ่มมีอาการดีขึ้น ความดันโลหิตเริ่มกลับมาคงที่ ปัสสาวะออกมาขึ้น เริ่มกลับมามีความอยากอาหารมากขึ้น อาการปวดท้อง ท้องอืดลดลง และรู้สึกมีเรี่ยวแรงมากขึ้น โดยระยะเวลาทั้งหมดของไข้เลือดออกนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 7-10 วัน
ป้องกันไข้เลือดออกอย่างไร ให้ได้ผลชะงัก!
-วิธีที่ดีที่สุด การป้องกันตัวเองไม่ให้ได้รับเชื้อไวรัสเดงกี พูดง่ายๆ ก็คือป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด นอนในห้องที่มีมุ้งหรือมุ้งลวด ใช้ยาทากันยุงชนิดทาผิว
-กำจัดแหล่งพาหะภาชนะเก็บน้ำต้องมีฝาปิดเสมอ เปลี่ยนน้ำในแจกัน หรือกระถางทุก 7 วัน ฉีดพ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงลายเต็มวัย
-วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก แนะนำให้ฉีดในรายที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ จะลดความรุนแรงและได้ผลดีกว่า
ไข้เลือดออก ภัยร้ายที่ใกล้ตัว โดยเฉพาะกับลูกหลานกลุ่มเด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไปป่วยมากที่สุด ดังนั้นต้องระวังให้ดี ผู้ปกครองต้องใส่ใจยิ่งช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน ยุงร้ายเติบโต เริงร่าเป็นพิเศษ!!