รถไฟหัวจรวด หรือ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ความจริงอีกขั้น!! ที่ใกล้วันให้ยลโฉม หลังตั้งไข่มาเกือบ 10 ปี ที่เริ่มลงเสาเข็มราวปี 2560 หลังมีคณะทำงานตามกรอบความร่วมมือไทย-จีน ในกรอบที่ว่า ไทยลงทุนและก่อสร้างงานโยธาทางรถไฟเอง 100% ส่วนจีนรับผิดชอบการออกแบบ ควบคุมงาน ติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล
‘รถไฟหัวจรวด’ เฟส 1 เส้นทางบรรจบ กรุงเทพ – โคราช เปิดได้ปี 2569
วันนี้ TOPPIC Time มีความคืบหน้าของโครงการรถไฟหัวจรวด มาเล่าสู่กันฟัง ในการก่อสร้างเส้นทาง ที่กำหนดไว้ 2 เฟส โดยความมุ่งหมายเพื่อเชื่อมอาเซียน ไป สปป.ลาว และจีน
– ระยะ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. สร้างแบบทางคู่ตลอดเส้นทาง งบประมาณกว่า 1.79 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 6 สถานี คือ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา กำหนดสร้างแล้วเสร็จในปี 2569
– ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย กำหนดเปิดให้บริการในปี 2571
สเปคขั้นเทพ รถไฟหัวจรวด Fuxing Hao
นอกจากนี้ ยังอัปเดตข่าวชัดเจนจากทางการจีนว่า จะใช้ขบวนรถรุ่น ฟู่ซิงห้าว (Fuxing Hao) CR300AF รถไฟหัวจรวดมาให้บริการ จำนวน 6 ขบวน ขบวนละ 8 คัน มีแผนจะส่งมอบในช่วงปี 2567-2568
CR Series (Fuxing Hao) หรือ รุ่นฟู่ซิงห้าว เป็น รถไฟหัวจรวด ที่ฝ่ายจีนให้การการันตีว่า เป็นระบบเทคโนโลยีทันสมัย และมีสมรรถนะที่ดีมาก สนนราคาจ่ายทั้งสิ้น 7,010 ล้านบาท
คุณสมบัติ รถไฟหัวจรวด
– มีอายุใช้งาน 30 ปี ใน 1 ขบวนมีตู้รถไฟ 8 ตู้
– ตู้สำหรับ Business Class 2 ตู้
– Standard Class 4 ตู้
– ตู้ธรรมดาที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ตู้
– ตู้สำหรับรับประทานอาหาร 1 ตู้
– จำนวนที่นั่งรวม 594 ที่นั่ง แยกเป็น First Class 96 ที่นั่ง และ Standard Class 498 ที่นั่ง รองรับผู้โดยสารได้ 5 หมื่นคน/ชั่วโมง/ทิศทาง
– ขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. โดยใช้พลังงานไฟฟ้า ปรับปรุงระบบ traction Convertor ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ประยัดพลังงานได้ประมาณ 14.5%
– ระบบความปลอดภัย ติดตั้งระบบวัดเสถียรภาพของตัวรถ จะตรวจวัดความสั่นสะเทือนทั้ง 3 แกน ได้แก่ Lateral, Vertical, Longitudinal แบบ Realtime และส่งสัญญาณผ่านระบบเครือข่ายเพื่อประมวลผล และแจ้งเตือนเมื่อพบความสั่นสะเทือนที่ผิดปกติ
– ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดเสถียรภาพของแคร่ และแจ้งเตือนเมื่อพบความผิดปกติ เช่น ความสั่นอุณหภูมิของเพลาล้อ เป็นต้น
TOPPIC Time มานั่งคิดเล่นๆ คำนวณคร่าวๆ หากขึ้น รถไฟหัวจรวด เส้นทางกรุงเทพ – โคราช รวมระยะทาง 316 กม. รถไฟวิ่งด้วยความเร็ว 250 กม./ชม. จะใช้เวลาเพียง 1.26 ชม. จากเดิมต้องนั่งก้นแฉะ กว่า 4-5 ชม. รถไฟหัวจราด จะถือเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของไทย ที่ยังจะบูมอีกโข…ส่วนภาพรถไฟปกติ ปู้นๆ ฉึกฉักๆ ตำนานบนเส้นราง อาจถูกลบภาพไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม รถไฟทั้ง 2 ภาค คงจะเป็นคู่ขนานที่สืบสานร่วมกันไว้ Thailand Only จ้า!!