พระปรางค์วัดอรุณ จุดแลนด์มาร์คของไทยที่ดังไปทั่วโลก ด้วยความงดงามและวิจิตรตระการตาของสถาปัตยกรรม ที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทย – จีนได้อย่างลงตัว กับข่าวที่ปรากฏว่า ‘พระปรางค์เอียง’ ส่งผลต่อจิตใจพุทธศาสนิกชน ซึ่ง TOPPIC Time มีเรื่องเล่ามาฝาก หลังมีการสำรวจผลล่าสุด เกี่ยวกับองค์ พระปรางค์ ของกรมศิลปากร
พระปรางค์ประธาน ทรุดตัวลง ทำมณฑปเอียง
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ ผลการสแกนพบว่า บริเวณองค์พระปรางค์ ประธานทรุดตัวลงเล็กน้อย ทำให้พระปรางค์ทั้ง 4 ทิศ รวมทั้งมณฑปทั้ง 4 ทิศ เริ่มเอียงเข้าหาพระปรางค์ประธานเล็กน้อย และจากการสำรวจโบราณสถาน โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ มรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร พบตัวมณฑปมีลักษณะเอียงจริง แต่เป็นการเอียงที่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่า จะเกิดอันตรายกับตัวโบราณสถาน อีกทั้งยังไม่ชัดเจนว่า เกิดการเอียงตั้งแต่เมื่อใด จึงเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามผล และเก็บข้อมูลเป็นระยะ
พระปรางค์เอียง จริง แต่ไม่กระทบฐานราก
ขณะที่ นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะที่ปรึกษางานอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร อธิบายเพิ่มเติมว่า ปลายมณฑปทิศเอียงตัวเล็กน้อย แต่ไม่ใช่องค์พระปรางค์ ซึ่งยังต้องวิเคราะห์สาเหตุการเอียง เกิดขึ้นเพราะเหตุใด เป็นไปได้ว่าเอียงตั้งแต่การก่อสร้าง เอียงในช่วงการบูรณะ หรือเอียงตามลักษณะสถาปัตยกรรม แต่ส่วนฐานพระปรางค์ ไม่พบว่า มีปัญหาเรื่องโครงสร้าง จนถึงขั้นจะทำให้เกิดการพังทลายลงมา จากการเดินสำรวจโดยรอบ ยังไม่พบมุมใดมุมหนึ่งเกิดการทรุดตัว หรือเป็นหลุม จึงยืนยันได้ว่าโครงสร้างตัวพระปรางค์ยังไม่มีปัญหาใดๆ อย่างแน่นอน
“กรมศิลปากรจะตรวจสอบติดตาม โดยใช้เทคโนโลยีสแกนสามมิติ และเก็บข้อมูลภาพถ่าย เพื่อจะดูแนวโน้มการเอียง มีกรอบเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง แสดงว่า การทรุดตัวมีแต่เดิม หรือหยุดนิ่งแล้ว แต่ถ้าเก็บข้อมูลแล้วมีแนวโน้มขยับมากขึ้น จะวางแนวทางบูรณะ หรือซ่อมแซมต่อไป”
สถาปัตยกรรม พระปรางค์ วัดอรุณ ก่อสร้างกว่า 9 ปี
วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร เรียกสั้นๆ ว่า วัดอรุณ หรือชื่อ วัดแจ้ง ตามประวัติศาสตร์ ในครั้งนั้น พระเจ้าตาก ทำศึกเสร็จแล้วยกทัพกลับมาเป็นเวลาเช้าพอดี สำหรับสถาปัตยกรรม พระปรางค์ เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทยขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รองอีก 4 ปรางค์ ตัวพระปรางค์ปัจจุบันนี้ มิใช่พระปรางค์เดิม ที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสูงเพียง 16 เมตร โดยปรางค์ปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นแทน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ใน พ.ศ 2363 แต่ก็ได้แค่รื้อพระปรางค์องค์เดิม และขุดดินวางราก ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ก็ได้ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2385 จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2394 ใช้เวลารวมกว่า 9 ปี
พระปรางค์วัดอรุณ สูงที่สุดในไทยและในโลก
พระปรางค์วัดอรุณ ได้รับการบูรณะเสมอมา จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้บูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ องค์พระปรางค์ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งด้วย กินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ ส่วนยอดบนสุดของพระปรางค์ติดตั้งยอดนภศูล พระปรางค์วัดอรุณฯ มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร เป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและของโลกอีกด้วย
ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความเปลี่ยนแปลง ย่อมปรากฏขึ้นได้ในทุกสรรพสิ่ง พระปรางค์เอียง ก็เช่นกัน ไว้มีอะไรใหม่ จะมาอัพเดทกันต่อ.