QS World University Rankings 2022 จัดอันดับ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ขึ้น Top 100 ของโลก อันดับ 1 ของไทย ด้านชื่อเสียงทางวิชาการติดต่อกันเป็นปีที่ 2 และติดอันดับ 215 มหาวิทยาลัยระดับโลก…
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 TOPPIC Time ได้รับการรายงาน จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก QS World University Rankings 2022 “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้รับยกย่องเป็น 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการ (Academic Reputation) ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยอยู่ในอันดับที่ 96 ของโลกเช่นเดียวกับปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นอันดับที่ดีที่สุดของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งนี้จุฬาฯ ยังครองอันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทยเป็นปีที่ 13 ติดต่อกัน (ตั้งแต่ปี 2009) และติดอันดับ 215 มหาวิทยาลัยระดับโลก
ทั้งนี้ QS World University Rankings 2022 จัดโดย QS Quacquarelli Symonds สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งรายงานผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ในปีนี้มีสถาบันอุดมศึกษาร่วมการจัดอันดับ 1,751 แห่งจากทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 147 แห่ง
โดยผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในปีนี้ จุฬาฯ ยังคงครองอันดับ 1 ของประเทศไทย ในด้านความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่มีค่าน้ำหนักการให้คะแนนมากที่สุด สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านการแสดงความคิดเห็นจากตัวแทนนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษากว่า 100,000 คนทั่วโลก
นอกจากนี้ ในด้านการเป็นที่ยอมรับจากนายจ้าง (Employer Reputation) จุฬาฯ อยู่ในอันดับ 101 ของโลก ซึ่งดีขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับ 125 เช่นเดียวกับในด้านสัดส่วนของอาจารย์ต่อนิสิต (Faculty Student) และสัดส่วนของนิสิตชาวต่างชาติ (International Student) จุฬาฯ ได้คะแนนในปีนี้สูงขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผลการจัดอันดับครั้งนี้สะท้อนภาพความสำเร็จของการพัฒนานวัตกรรมกรรมที่หลากหลายเพื่อดูแลสังคมของจุฬาฯ หรือ Innovations for Society ทำให้ได้รับการยอมรับอย่างยิ่งทั้งในแวดวงวิชาการและอุตสาหกรรมในระดับนานาชาติ
สำหรับการจัดอันดับ QS World University Rankings 2022 พิจารณาจากตัวชี้วัด 6 ด้านที่มีการคำนวณค่าน้ำหนักที่แตกต่างกัน ประกอบด้วยความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ (40%) การเป็นที่ยอมรับจากนายจ้าง (10%) สัดส่วนของอาจารย์ต่อนิสิต (20%) ผลงานวิชาการต่ออาจารย์ (20%) สัดส่วนของอาจารย์ชาวต่างชาติ (5%) และสัดส่วนของนิสิตชาวต่างชาติ (5%).