ฝีดาษวานร โรคที่คิดว่าไม่มีในไทยแล้ว แต่หารู้ไม่…ยังมีผู้ป่วยอยู่เรื่อยๆ นะครับ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วย โรคฝีดาษวานร จากสถาบันบำราศนราดูร จึงส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กองระบาดวิทยาและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี ลงพื้นที่สอบสวนโรค พบว่า…
เจาะลึก คนไทยรายแรก ตายเพราะ ‘ฝีดาษวานร’
ไทม์ไลน์ ‘ฝีดาษวานร’ ระยะเริ่มต้น
– ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย อายุ 34 ปี
– มีประวัติเป็นไข้ ปวดศีรษะ คัน และมีผื่นและตุ่ม ขึ้นบริเวณผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566
– เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดชลบุรี
– วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 แพทย์สงสัยเป็นโรค ฝีดาษวานร จึงส่งตัวอย่างตรวจ ยืนยันผลพบสารพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษวานร และขณะเดียวกัน ยังตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิส
– ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอ ตรวจพบภาวะติดเชื้อรา เป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสของเอชไอวี ส่วนบริเวณผิวหนังมีผื่นแผลจากโรคฝีดาษวานรกระจายทั่วตัว
– ยังรับการรักษา จนครบ 4 สัปดาห์แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้
ไทม์ไลน์ ‘ฝีดาษวานร’ กำเริบหนักอีกครั้ง
– วันที่ 9 สิงหาคม ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจลำบาก ญาติจึงนำผู้ป่วยมารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดู
– ตรวจพบว่ามีผื่นจาก โรคฝีดาษวานร กระจายทั่วตัว และมีการตายของเนื้อเยื่อที่จมูกและคอ เป็นบริเวณกว้าง มีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่แขนและขา มีภาวะปอดอักเสบ และอาการสมองอักเสบ
– ผลตรวจเม็ดเลือดขาว CD4 เท่ากับ 16 เซลล์ต่อมิลลิกรัม แสดงถึงภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง
– แพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสฝีดาษวานรและยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
– ต่อมาผู้ป่วยอาการทรุดลงและเสียชีวิตในคืนวันที่ 11 สิงหาคม 2566
ฝีดาษวานร โรคติดต่ออุบัติใหม่ของไทย
- สถานการณ์ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2566
- มีรายงานผู้ป่วยรวม 189 รายในไทย เป็นสัญชาติไทย 161 ราย ชาวต่างชาติ 28 ราย
- มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น ระยะแรกพบผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ก่อนแพร่ไปจังหวัดอื่น
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยจำนวน 82 ราย (ร้อยละ 43)
- ปัจจัยเสี่ยงหลักคือการมีเพศสัมพันธ์ กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก ที่เป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร
ข้อสังเกต ตรวจสอบอาการ ‘ฝีดาษวานร’ เบื้องต้น
– ทำได้ด้วยตนเอง หากมีผื่น/ตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัย ฝีดาษวานร หรือผู้ป่วยฝีดาษวากนร
– ให้สังเกตตนเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน
– หากมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือ ทวารหนัก หรือ บริเวณรอบๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก
– ให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพ หรือโรงพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงประกอบการวินิจฉัย
สถานการณ์ ฝีดาษวานร ทั่วโลก
มีรายงานผู้ป่วย ฝีดาษวานร เสียชีวิต 152 รายแล้วทั่วโลก เริ่มการระบาดในยุโรปและหลายประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ปัจจุบันประเทศไทยได้รับมอบยาต้านไวรัสชื่อ Tecovirimat (หรือ TPOXX) จำนวนหนึ่งจากองค์การอนามัยโลก มาใช้รักษาผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีอาการมาก ที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และจะต้องมีการวัดประสิทธิผลของยานี้ไปพร้อมกัน
ภาพ – ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, มหาวิทยาลัยมหิดล