โรค “ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์” หรือ “ปวดหัวแบบคลัสเตอร์” ถือเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะปวดหัวรุนแรง และเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน หากใครกำลังรู้สึกว่า อาการปวดหัวของคุณ แตกต่างจาก “อาการ” ปวดหัวปกติเหลือเกิน TOPPIC Time ชวนทุกคนมาเช็คลิสต์และรู้จักกับโรคดังกล่าวไปพร้อมๆ กัน เพราะบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยส่วนหนึ่ง มักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไมเกรน ทั้งที่ไม่ใช่แต่อย่างใด
ทั้งนี้ กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา ระบุไว้ว่า ถ้าได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และได้รับการรักษาที่ตรง จะช่วยลดอาการปวดหัวได้ดีกว่า สำหรับในผู้ป่วยบางรายอาการปวดรุนแรง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะโรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ ถูกพบบ่อยในผู้ชาย อายุที่พบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40 ปี แต่อายุน้อยกว่านี้ก็สามารถพบได้ ทั้งนี้ในระยะหลัง โรคปวดหัวแบบคลัสเตอร์ ก็พบในผู้หญิงได้ไม่น้อยเช่นกัน
รู้จัก โรค “ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์” หรือ “ปวดหัวแบบคลัสเตอร์”
โรค “ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์” หรือ “ปวดหัวแบบคลัสเตอร์” คือ?
คือ ภาวะปวดหัวรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ปวดข้างเดียว หรืออาจปวดบริเวณรอบดวงตา และอาจเกิดขึ้นหลายครั้งภายในวันเดียว ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา แนะควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา
อาการของโรค “ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์” หรือ “ปวดหัวแบบคลัสเตอร์”
ลักษณะการปวดมักจะรุนแรงที่รอบเบ้าตา หรือขมับข้างใดข้างหนึ่งร่วมกัน กับมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ตาแดง น้ำตาไหล เปลือกตาบวม คัดจมูกข้างเดียวกับที่ปวด โดยมีระยะเวลาปวด 15 นาทีจนถึง 3 ชั่วโมง ลักษณะเด่นที่ช่วยในการวินิจฉัยคือ มักมีอาการปวดเวลาเดิมๆ ของวัน เช่น มักปวดตอน 10 โมงเช้า หรือ 01.00 น. เป็นต้น และอาจมีอาการปวดแบบนี้ได้ตั้งแต่วันเว้นวัน จนถึง 8 ครั้งต่อวัน และปวดไปเช่นนี้ติดต่อเกือบทุกวัน จนถึงเป็นอาทิตย์ หรือ 2-3 เดือนแล้วหาย และจะวนกลับมาเป็นอีกในช่วงเวลาเดิมๆ ของปีถัดๆ ไป ลักษณะที่มีปวดติดต่อกันเป็นช่วงๆ แบบนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ “คลัสเตอร์”
สาเหตุของการเกิดโรค “ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์” หรือ “ปวดหัวแบบคลัสเตอร์”
โรคนี้เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วนไฮโปทาลามัส การวินิจฉัยโรค แพทย์ทำการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย และส่งตรวจเอ็กซเรย์ระบบประสาท เพื่อแยกจากโรคที่อาจมีอาการคล้ายกัน จากนั้นแพทย์จะทำการรักษาต่อไป
การรักษาโรค “ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์” หรือ “ปวดหัวแบบคลัสเตอร์”
การรักษา แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1. การรักษาระหว่างปวด เช่น ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์เร็ว การให้ออกซิเจนทางหน้ากากครอบจมูก
2. การป้องกันหรือลดระยะเวลาที่ปวด เช่น การฉีดยารอบเส้นประสาท Occipital และการใช้ยาอื่นๆ ที่จำเพาะต่อโรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์
กินยาแก้ปวดเอง อันตรายต่อโรค “ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์” หรือ “ปวดหัวแบบคลัสเตอร์”
โรคปวดศีรษะมีหลายประเภท ซึ่งมีสาเหตุที่แตกต่างกัน การซื้อยาแก้ปวดทานเองบ่อยครั้ง อาจกระตุ้นให้อาการปวดศีรษะเป็นมากขึ้นและเกิดอันตรายได้ เมื่อมีอาการปวดศีรษะ ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมสามารถทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้
เอาล่ะ…รู้ข้อมูลและรายละเอียดแบบนี้แล้ว ลองเช็คลิสต์กันดู ว่าคุณมี “อาการ” หรือเป็นโรค “ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์” หรือ “ปวดหัวแบบคลัสเตอร์” หรือไม่ จะได้รีบไปรักษานะคะ
อ่านบทความเกี่ยวกับ “สุขภาพ” ได้ที่นี่.