วธ.มอบโล่ “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชู “อาหารถิ่น” พร้อมเปิดให้ชิมฟรี ประกาศให้ บ่อเกลือ ตำนานนางผมหอม ตำนานหลวงพ่อพระใส แห่นกบุหรงซีงอ ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ และอื่นๆ รวม 14 รายการ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมปี 2565 ชวนภาครัฐ เอกชน ประชาชน ร่วมรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีจัดงานยกย่องเชิดชูบุคคล องค์กร หน่วยงานผู้ทำคุณประโยชน์ต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยมีนายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหาร วธ. พร้อมนายกเหล่ากาชาด จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง หนองคาย นครปฐม ลพบุรี ระยอง สมุทรสงคราม และสุพรรณบุรี พร้อมผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงานองค์กร สถานศึกษา ผู้ทำคุณประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ เข้าร่วมงาน ณ อาคารอเนกประสงค์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรม ตระหนักถึงความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ( intangible cultural heritage ) หรือคำย่อว่า “ ICH ” ว่า เป็นสิ่งที่แสดงถึง เกียรติ และความภาคภูมิใจ ของคนในท้องถิ่น และคนในชาติ ทำเกิดความรัก หวงแหน และ เห็นคุณค่าในวัฒนธรรมไทยที่ ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมา และเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึก ความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ
“วัฒนธรรมนับเป็นฐานรากของชุมชน สังคม และประเทศชาติ ที่แสดงถึงการดำเนิน วิถีชีวิตของคนในสังคม ตั้งแต่ การกิน การอยู่ การพักผ่อน การสื่อสาร และ การอยู่ร่วมกัน โดยแนวทางดังกล่าว มาจากรากฐานที่สำคัญที่สุดคือ ครอบครัว”
สำหรับประเทศไทยเรานั้น มีเสน่ห์มรดกทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง จากวิถีชีวิต การขัดเกลาเลี้ยงดู จึงทำให้คนไทย แตกต่างจากชาติอื่นในโลก เช่น การมีน้ำใจไมตรี มีความเอื้ออารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจ
ตลอดจน จาก มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น เรื่องของศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ความเป็นไทย อาหารไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่น ดังนั้น เศรษฐกิจที่ตั้ง อยู่บนรากฐาน ของวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง จากภูมิปัญญา และวิถีชีวิต ของครอบครัว และชุมชน จะสามารถเติบโตอย่างแข็งแรง และยั่งยืนได้ โดยการนำทุนทางวัฒนธรรม มาสร้างคุณค่าทางสังคม ต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำวัฒนธรรมไทยเป็น soft power ผลักดันให้เกิดค่านิยม ที่มีอิทธิพลกับความคิดของสังคม และประชาชนในประเทศและต่างประเทศ
ภายใต้นโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม ให้ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน soft power เพราะ ครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดทางสังคมและเป็นรากฐานสำคัญในการสืบสาน รักษา ต่อยอด วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียม ประเพณีที่สำคัญ ของชาติ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตทัดเทียมนานาอารยะประเทศ
กิจกรรมภายในงานเริ่มด้วย การประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช 2565 จำนวน 14 รายการ ประกอบด้วย บ่อเกลือ ตำนานนางผมหอม ตำนานหลวงพ่อพระใส แห่นกบุหรงซีงอ ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ นาเกลือ น้ำผักสะทอน ผ้าไหมหางกระรอกโคราช ผ้าซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ ผ้าโฮลสุรินทร์ เมรุลอย การเส็งกลองกิ่ง การเล่นโหวด และเรือบก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ มอบเกียรติบัตรให้กับชุมชนผู้ปฏิบัติสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้นำเสนอข้อมูลขึ้นบัญชี รวม 21 ชุมชน ต่อด้วย การมอบโล่รางวัลบุคคล กลุ่มบุคคล ชุมชน องค์กรหรือหน่วยงานที่ทำคุณประโยชน์ แบ่งเป็น ประเภทบุคคล 16 รางวัล ประเภทกลุ่มบุคคล 7 รางวัล จากนั้น เป็นการมอบโล่รางวัล “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food)
“รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปี 2566 ซึ่งได้รวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย มายกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์ขึ้นเป็นอาหารประจำจังหวัดและสำรับอาหารประจำภาค โดยมีผู้เข้ารับโล่รางวัล จำนวน 77 คณะ และปิดท้ายด้วย การมอบโล่รางวัลโครงการคัดเลือกโรงเรียนดนตรีไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ระดับดีเด่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 11 โรงเรียน สนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์ สืบสานและถ่ายทอดดนตรีไทยสู่เด็กและเยาวชนได้อย่างถูกต้องและมีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีไทยเป็นอย่างน้อย คนละ 1 ชนิด
นอกจากนี้ ผู้ร่วมงานยังได้ชมการสาธิตทางวัฒนธรรมทั้งการบรรเลงดนตรีไทย และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีชาติ รวมทั้งเมนูอาหาร 77 รายการ ที่จัดมาให้ประชาชนที่มาร่วมงานได้ชิมกันฟรี ๆ พร้อมยังได้รับสาระความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ชุมชนร่วมนำเสนอภายในงานเพื่อเผยแพร่ความรู้ในวงกว้างต่อไป