จับตาพายุไต้ฝุ่นโคอินุ เริ่มก่อตัวและกำลังทวีความรุนแรงขึ้น คาดจะส่งผลถึงไทย ให้มีฝนตกหนัก-หนักมาก ระหว่าง 9 – 11 ตุลาคมนี้ แนะให้พร่องน้ำในเขื่อนรอเติม ขณะที่ฤดูหนาวจะล่าช้า 2 สัปดาห์ คาดปลายตุลาคม
นายชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ (TEAMG) หรือทีมกรุ๊ป โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวและเพจกลุ่มเตือนภัยพิบัติ (วิชาการ) จับตาเส้นทางพายุโคอินุ จากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก เคลื่อนที่ทางทิศตะวันตก มีแนวโน้มจะเข้าไทย ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก 9 ถึง 11 ตุลาคม จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า มีความจำเป็นต้องระบายน้ำพร่องน้ำออกจากเขื่อนที่มีน้ำมากในแนวเส้นทางที่จะมีฝนตกหนัก เช่น ลำปาว น้ำอูน หนองหาร ห้วยหลวง เพิ่มเติมอีกหรือไม่
เปิดเส้นทาง ‘พายุใต้ฝุ่นโคอินุ’
พายุไต้ฝุ่นโคอินุ (#14:Koinu=ดาวหมาญี่ปุ่น) จากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นพายุลูกที่ 14 ของปีนี้ เคลื่อนที่ทางทิศตะวันตก
– 3 ตุลาคม เพิ่มกำลังแรงเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 1 และ 2 (สูงสุด=5)
– 4 ตุลาคม ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากในไต้หวันทั้งประเทศ
– 5 ตุลาคม เพิ่มกำลังแรงเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 3 ทำให้ฝนตกหนักที่ฮ่องกง แล้วเคลื่อนที่ต่อไปทางตะวันตก หากไม่เปลี่ยนแปลง จากการคาดการณ์เบื้องต้น คาดว่า
– 7 ตุลาคม ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากที่ไหหลำ
ประเทศไทยเริ่มได้รับอิทธิพลจากพายุมีฝนกระจาย-หนัก
– 9 ตุลาคม ขึ้นฝั่งเวียดนาม ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ที่กรุงฮานอยและพื้นที่ใกล้เคียง และในพื้นที่ประเทศลาว ตั้งแต่เวียงจัน สุวรรณเขต ลงไปถึงจำปาสัก
“เริ่มมีฝนตกปานกลางถึงตกหนัก ในจังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร อุบลราชธานี ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และภาคตะวันออก รวมถึงกรุงเทพมหานคร”
– 10 ตุลาคม จะทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน และอีสานตอนกลาง ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และภาคตะวันออก รวมถึงกรุงเทพมหานคร
– 11 ตุลาคม ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ในพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และภาคตะวันออก รวมถึงกรุงเทพมหานคร ต้องติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิดต่อไป ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
คาดฤดูหนาวมาช้าและหนาวน้อยกว่าปกติ
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย ปีนี้ คาดว่า บริเวณประเทศไทยตอนบน จะเริ่มประมาณปลายเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งจะช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 2 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยบริเวณตอนบนประมาณ 21 – 22 องศาเซลเซียส จะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1.5 C (ค่าปกติ 19.9 C) และจะมีอากาศหนาวเย็นน้อยกว่าปีที่ผ่านมา (อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 20.8 C)
สำหรับอุณหภูมิต่ำที่สุดประมาณ 9 – 10 C ส่วนมากจะอยู่ตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนอุณหภูมิต่ำที่สุดบริเวณกรุงเทพมหานคร 17 – 18 C และปริมณฑล 15 – 16 C ช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ประมาณต้นเดือนธันวาคม 2566 ถึงปลายเดือนมกราคม 2567 สำหรับยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง