เพจ The Principia แจงละเอียดยิบ ไม่มี “ทฤษฎีสัมพันธภาพ”ทฤษฎีที่ “คุณหญิงการะเกด” รู้จักในพรหมลิขิต EP.7 ควรจะเป็น “ทฤษฎีสัมพัทธภาพ”…
กับมุกใหม่ๆ ซีนแปลกแหวกแนวที่ผู้เขียน “พรหมลิขิต” ต้องการสอดแทรกให้ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจ ก็ต้องบอกว่าทำได้ดี มีความเป็นเอกลักษณ์และเป็นลายเซ็นของละครเรื่องนี้หาที่ใดเทียบเทียมได้ แต่ล่าสุด “พรหมลิขิต” ได้หยิบเอาวิทยาศาสตร์ออกมาเอ่ยอ้าง โดยเป็นซีนที่ “คุณหญิงการะเกด” ได้เจอกับ “พุดตาน” ทำให้เกิดการจับผิดในทฤษฎีที่ “คุณหญิงการะเกด” ได้พูดถึง นั่นก็คือ “ทฤษฎีสัมพันธภาพ” หากแต่ว่า ทฤษฎีนี้มันไม่มีในโลกน่ะสิ เอ้าๆๆ แล้วแม่หญิงต้องการพูดถึงทฤษฎีอะไรกันแน่ งงในงง ? โดยเพจ The Principia ได้ออกมาแย้ง พร้อมอธิบายความจริงไว้อย่างหมดเปลือก ไปตามอ่านกันจะได้กระจ่างแก่ใจ นะออเจ้า
โดยทางเพจได้บอกว่า “เมื่อคืนใครได้ดูพรหมลิขิตบ้าง ละครไทยที่เริ่มหยิบไอเดียความเป็น Sci-fi เข้ามาอธิบายเหตุการณ์ในเรื่อง เมื่อแม่หญิงการะเกด ได้มาพบกับพุดตาน ผู้ที่เคยมีชีวิตในกรุงเทพฯ ยุคปัจจุบันก่อนจะย้อนเวลามาอดีตเหมือนกัน แต่วิธีการกลับต่างกัน แม่หญิงการะเกดจึงพยายามเกริ่นการอธิบายเรื่องวิธีย้อนเวลาของพุดตานไว้ว่า “อาจเกี่ยวกับการเบี่ยงเบนของเวลา ‘ทฤษฎีสัมพันธภาพ’ ของไอน์สไตน์ หนูรู้จักไหม ?”
พุดตานอึ้ง คนดูอึ้ง กรรมการอึ้ง เพราะไอน์สไตน์ไม่เคยคิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพ มีแต่ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพ’
เล่าอย่างนี้บางคนอาจจะบอกว่า เฮ้ย! จริงจังไปหรือเปล่า? ผิดพยางค์เดียว เดือดร้อนขนาดนั้นเลยเหรอ? เพื่อที่จะชี้แจงแถลงไข ให้ใครต่อใครได้รู้ความจริง เราจึงอยากเล่าให้อ่านกันว่า ‘ความสัมพันธ์’ กับ ‘ความสัมพัทธ์’ มีความหมายที่แตกต่างกัน
สัมพันธ์ (สำ-พัน) มีความหมายตามราชบัณฑิตฯ ว่า ผูกพัน หรือเกี่ยวข้อง เช่น สมหมายกับสมปอง ทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันมิตร
สัมพัทธ์ (สำ-พัด) มีความหมายตามราชบัณฑิตฯ ว่า ที่เปรียบเทียบกัน เช่น ความเร็วสัมพัทธ์ ที่หมายถึงความเร็วเมื่อเทียบกับจุดอ้างอิง อาทิ ผู้สังเกต
จะเห็นคร่าว ๆ ว่าความสัมพันธ์ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องกายภาพ คน สัตว์ สิ่งของ เป็นชิ้นเป็นอัน มีความผูกพันหรือเกี่ยวข้องกับชิ้นอื่นอันอื่น ส่วนสัมพัทธภาพ ว่าด้วยเรื่องของตัวเลข การคำนวณ เปรียบเทียบ ที่เห็นภาพได้จากวิชาฟิสิกส์ ซึ่งแน่นอนว่า ไอน์สไตน์ผู้คิดค้นทฤษฎี ‘สัมพัทธภาพ’ เป็นนักฟิสิกส์
ถ้าหากใครสงสัยว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพ อธิบายเกี่ยวกับความสัมพัทธ์ของอะไร เล่าแบบสรุป ขอยกทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษมาอธิบายสั้น ๆ ว่า มันคือการเปรียบเทียบความเร็ว ระหว่างจุดอ้างอิงกับวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วมาก ๆ เร็วจนเกือบเข้าใกล้ความเร็วแสง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความเร็วสูงสุดในจักรวาล เท่าที่เรารู้ตอนนี้
แต่ถ้าใครอ่านคำอธิบายสั้น ๆ นี้แล้วยังไม่จุใจ ลองอ่านคำอธิบายยาว ๆ ที่ The Principia เคยเขียนไว้ได้ที่บทความตามเว็บไซต์ด้านล่างนี้
หวังว่าคนอ่านทุกคน รวมถึงแม่หญิงการะเกด คนเขียนบท ผู้กำกับ และพุดตาน จะเข้าใจ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพ’ ของไอน์สไตน์มากขึ้นนะครับ เผื่อว่าจะได้เข้าใจวิธีการเดินทางข้ามเวลาของพุดตานในละครพรหมลิขิตมากขึ้นด้วย”
ล่าสุด เพจ The Principia ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติ่ม ระบุว่า… “แจ้งไว้หน่อยนะคร้าบ ทางทีมงานเราได้ลองติดต่อคุณรอมแพง ผู้เขียนนิยายต้นฉบับแล้วนะครับ ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกพิมพ์ชื่อทฤษฎีผิดจริงๆ ครับ แต่ทางผู้เขียนส่งฉบับแก้ไขให้บก.นำมาตีพิมพ์ใหม่ในฉบับถัดไปแล้วครับ ซึ่งเนื้อหาจากในรูปแบบ e-book ได้รับการแก้ไขก่อนวางขายแล้วด้วยนะครับ คาดว่าทางผู้จัดละครจะอ้างอิงจากเนื้อหานิยายฉบับที่พิมพ์ผิด ทำให้พลาดเรื่องการใช้ภาษาไปบ้าง เข้าใจได้ครับ
อยากให้ทุกคนได้รู้ว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ และการแก้ไขความเข้าใจผิดเป็นเรื่องที่ดีนะครับ หวังว่าทุกคนจะสนุกไปกับละครพรหมลิขิต และสนุกกับคอนเทนต์วิทยาศาสตร์จากเพจ The Principia นะคร้าบบบ”