Van Cleef & Arpels Le Grand Tour แรงบันดาลใจจากนครฟลอเรนซ์ Grand Tour เกิดขึ้นก็เพื่อให้ชายหนุ่มทั้งหลาย ได้ออกเดินทางไปต่างแดน เพื่อเรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับร่องรอยอารยธรรมโบราณแหล่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
– สร้อยคอ “นวนคร” หรือ Villanova (วิลลาโนวา) ประดับจี้ปลดออกได้ พร้อมต่างหูเข้าชุด ตัวเรือนทองคำขาวประกอบทองคำสีกุหลาบประดับโมทิฟฝังเพชร ร้อยจี้ระย้าทุรมาลีสีทับทิม หรือรูเบลไลต์ เจียระไนหลังเบี้ย 9 เม็ด น้ำหนักรวม 110.04 กะรัต
สร้อยคอ “นวนคร” หรือ Villanova ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลักษณะเฉพาะ ของเครื่องประดับอัญมณีในยุคอารยธรรมอีทรัสคัน ที่วิวัฒนาการขึ้นในแคว้นทัสคานีของอิตาลี ระหว่างยุคสัมฤทธิ์ ซึ่งก็คือประมาณ 800-900 ก่อนคริสตกาล บริเวณที่รุ่งเรืองของอารยธรรมนี้ถูกเรียกว่า “วิลลาโนวา” หรือ “นวนคร” อันแปลว่า “เมืองใหม่” ในอาณาจักรแห่งนั้น
จุดเริ่มต้นขุมทรัพย์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองฟลอเรนซ์ ด้วยความพิถีพิถันในการพิจารณาถึงความสม่ำเสมอ และกลมกลืนของเนื้อสี ร่วมกับการเจียระไนให้ได้ขนาดที่เท่ากัน ทุรมาลีสีทับทิม หรือรูเบลไลต์หลังเบี้ยทั้งเก้า ถูกนำมาจัดสัดส่วนเชิงสมมาตรอย่างวิจิตรบรรจงให้เผยความงดงามทางคุณลักษณ์เฉพาะตัวถึงขีดสุด
ขณะเดียวกัน ด้วยความประณีตในงานประกอบชิ้นส่วน โดยอาศัยโมทิฟฝังเพชรเป็นข้อต่อยึดตัวหยดรูเบลไลต์ ให้แกว่งไกวไปมาได้อย่างอิสระตลอดเส้นโครงสร้างตัวเรือนลายบั้งต่อเนื่อง เป็นเกลียวเปียทองคำ สีกุหลาบของแถบสร้อยสวมติดคอหรือโชคเกอร์ จึงอำนวยให้ผลงานชิ้นนี้มีน้ำหนักเบา มอบความยืดหยุ่น สวมสบายเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนั้น ประกายพรายพราววาวระยับของชิ้นงาน ยังได้รับการเร่งความเข้มแสง เพิ่มระดับความสว่างจากไฟในน้ำเพชรของโมทิฟข้อต่อยึดรูเบลไลต์ ซึ่งถูกจำลองแบบมาจากเส้นกรอบ หรือโครงทรงของเครื่องประดับศีรษะ บนรูปปั้นแกะสลักจากยุคอีทรัสคัน ร่วมกับลูกเล่นฝังเพชรแบบต่างๆ ทั้งงานฝังเปลือกหุ้มแบบกาบหอย, ฝังลูกปัด และเขี้ยวหนามเตย ในตำแหน่งสะท้อนแสง ให้ได้วิถีตกกระทบลงสู่หยดน้ำหลังเบี้ยทั้งเก้าอย่างแยบคาย
ความกลมกลืนระหว่างเฉดสีม่วงสดอมชมพูเข้มของรูเบลไลต์ กับประกายอบอุ่นจากทองคำสีกุหลาบของตัวเรือนเปิดโปร่ง อันอำนวยต่อการรับแสงรอบทิศทาง ยังต่อเนื่องมาสู่คู่ต่างหู ซึ่งอาศัยงานออกแบบเดียวกันกับโมทิฟฝังเพชรประดับบนแถบสร้อย โดยมีการสับเปลี่ยนโค้งทองคำขาว ไปเป็นทองคำสีกุหลาบ ให้สอดคล้องกับโครงสร้างโลหะทองสองเฉดสีของสร้อยคอ
พร้อมกันนั้น กลไกติดตั้งบนต่างหูรองรับงานประกอบหยดทุรมาลีสีทับทิมที่ปลดออกมาจากฐานระย้า ก็ถือเป็นอีกหนึ่งหลักฐานยืนยันความพิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียดของเมซงนอกเหนือจากงานฝังเพชรเดี่ยวเจียระไนทรงหยดน้ำให้ดูคล้ายกำลังหยาดตัวลงมาจากกลไกตัวกลัดสายสร้อยทางด้านหลังอย่างแยบยล
– แหวน “วิหารรัก” หรือ Ode à l’amour (โอดาลามูร) ตัวเรือนทองคำสีกุหลาบประกอบทองคำขาวรองรับไพลินสีชมพูเม็ดเดี่ยวเจียระไนทรงวงรีน้ำหนัก 4.04 กะรัต (ไพลินมาดากัสการ์) ตกแต่งรายละเอียดด้วยงานฝังทับทิม, ไพลินสีชมพู และเพชร
ในปีค.ศ. 1485 ซานโดร บ็อตติเชลลิ จิตรกรชาวเมืองฟลอเรนซ์ได้สรรค์สร้างหนึ่งในสุดยอดผลงานอันยิ่งใหญ่แห่งยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของอิตาลี นั่นก็คือ “กำเนิดวีนัส” หรือ The Birth of Venus และในคอลเลกชัน “นิราศนครอารยศิลป์” หรือ Le Grand Tour เมซงได้ออกแบบแหวน “วิหารรัก” หรือ Ode à l’amour (โอดาลามูร) ขึ้นเพื่อยกย่องอัครศิลปินผู้นี้ด้วยการใช้ความเป็นเลิศในไหวพริบทางการสร้างสรรค์อันสุดแยบคาย
ไพลินสีชมพูเม็ดเดี่ยวเจียระไนทรงวงรีน้ำหนัก 4.04 กะรัต ถูกบรรจงจัดให้อิงตัวอยู่ในเวิ้งเปลือกหอยทองคำสีกุหลาบ ยกโค้งสูงราวจะคอยปกปักษ์รัตนชาติเลอค่าเฉกเช่นเปลือยหอยมหึมาที่อารักขาเทพีแห่งความรักในภาพวาด “กำเนิดวีนัส” ท่ามกลางงานฝังเพชรลูกทรงกลมเรียงแถวตลอดแนวขอบฝาหอย ความอ่อนช้อยของงานประดับทับทิม, ไพลินสีชมพู และเพชรตลอดจนโมทิฟทองคำสีกุหลาบขนาดจิ๋วร่วมกันจำลองความงดงามของสรรพสิ่งแห่งท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นกรวดทราย, เพรียง หรือก้อนหินเกาะเสาหลักให้มาปรากฏอยู่ภายในเปลือกหอยหัวแหวน และต่อเนื่องมาจนถึงฐานรองหัวแหวนบนตัวเรือนทองคำขาวฝังเพชร เพื่อมอบความสมจริงอย่างที่สุด
Van Cleef & Arpels ต้องระดมความสามารถของช่างฝีมือแผนกต่างๆ ให้มาร่วมกันหลอมรวมไหวพริบพลิกแพลงทักษะความชำนาญหลากแขนง จากความวิจิตรบรรจงในการแกะลายบนทองคำสีกุหลาบหล่อแบบไปจนถึงเทคนิคสลักลายแถบขดริ้วซ้อนตัวอย่างที่เรียกว่า ramolayé (ราโมลาเย) ซึ่งถูกนำมาใช้กับทองคำขาวเพื่อเติมน้ำหนักสัณฐาน เป็นการถ่ายทอดทุกแง่มุมรายละเอียดสามมิติของเปลือกหอยธรรมชาติมาสู่งานเครื่องประดับอย่างสมบูรณ์