กรมอุทยานฯ ประกาศห้ามนำเข้า “อิกัวน่า” ทุกชนิดเข้าไทย มีผล 17 พ.ย. พบรุกรานหนักในหลายพื้นที่ แหล่งชุมชน และทำลายระบบนิเวศ เร่งคุมกำเนิด ลงทะเบียนครอบครอง หากปล่อยทิ้งมีโทษทั้งจำและปรับ
“อิกัวน่า” ที่พบระบาดในพื้นที่ธรรมชาติและชุมชนใกล้เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ป่าคำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ขนาดใหญ่กว่า 1 เมตร ล่าสุด นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงนามในประกาศ วันที่ 17 พ.ย.2566 กำหนดชนิดสัตว์ป่า ที่ไม่พิจารณาอนุญาตให้นำเข้า โดยกำหนดห้ามนำเข้าอิกัวน่า เข้าไทยแล้ว
หลังพบอิกัวน่าจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติในหลายจังหวัด กัดกินพืชผลทางการเกษตร และจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่ อีกทั้ง อิกัวน่า ที่พบเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ไม่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาขยายเพิ่มมากขึ้น จึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายเกี่ยวข้อง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2565
กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะไม่พิจารณาอนุญาตให้นำเข้าสัตว์ป่า เพื่อเป็นมาตรการควบคุมปริมาณภายในประเทศ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงกลุ่มที่ 1 สัตว์ป่าที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ “วงศ์อิกัวน่า” (Family Iguanidae) ลำดับที่ 690 อีกัวนาทุกชนิดในสกุล Iguana (Iguana spp.) ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
อิกัวน่าสร้างปัญหาหลายพื้นที่หลายจังหวัด
ความเดือดร้อนจากปัญหาอิกัวน่า ขยายพันธุ์และสร้างปัญหาเป็นรูปธรรมจนเดือดร้อน ในพื้นที่ ต.ดีลัง และต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี กัดกินพืชผลการเกษตรสร้างความเดือดร้อน ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเร่งแก้ปัญหา กระทั่ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งเจ้าหน้าที่เร่งแก้ไขด้วย เพราะกระทบต่อวิถีชีวิต และพืชผลทาง การเกษตรและแย่งกินอาหารของสัตว์เลี้ยง โดยพบการกระจายตัวในวงกว้างแหล่งชุมชน และพื้นที่ไร่สวน
อิกัวน่าสร้างปัญหาในต่างประเทศจนถึงไทย
อิกัวน่าเคยสร้างปัญหาในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกามาแล้ว เคยถูกให้กำจัด เหตุทำลายระบบนิเวศ สำหรับในไทย หลังอีกัวน่าปรากฏตามที่สาธารณะมีการประชาสัมพันธ์ ให้ผู้เลี้ยงครอบครองสัตว์ป่าต่างประเทศ ต้องรับผิดชอบปฏิบัติข้อกฎหมายไม่ปล่อยให้เป็นอิสระ การปล่อยสัตว์ป่าควบคุมมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต้องเลี้ยงไปตลอดชีวิตและหากไม่ประสงค์จะเลี้ยงให้แจ้งและส่งมอบให้กรมอุทยานฯ กรมอุทยานรายงาน มีข้อมูลพบนำเข้าอิกัวน่าในช่วง 20 ปี จำนวน 199 ชนิด 238,774 ตัว จาก 72 ประเทศ 6 ภูมิภาค คือ แอฟริกา ยุโรป เอเชีย อเมริกากลาง อเมริกาเหนือ โอเชเนียร์
อิกัวน่าจากสัตว์ป่า ถึงสัตว์เลี้ยง
“อิกัวน่า” สัตว์เลื้อยคลานในจำพวก “กิ้งก่า” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Iguana iguana โดยจะมีรูปร่างสีสันแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ มีลักษณะเด่น คือ “เหนียง” ที่เป็นแผ่นหนังกลมขนาดใหญ่ห้วยอยู่ใต้คาง ตั้งแต่คอ กลางหลัง มีแผงหนามเรียงตัวต่อเนื่องยาวไปจนถึงหาง หากสังเกตดูที่ “แก้ม” จะเป็นเกล็ดแผ่นวงกลมขนาดใหม่ ซึ่งเรียกว่า subtympanic shield และมีช่องหูในแนวหลังตาแต่ละข้าง
“อิกัวน่า” แบ่งออกได้เป็น 8 วงศ์ย่อย แบ่งออกได้เป็น 44 สกุล และพบมากกว่า 672 ชนิด ชนิดที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ อีกัวน่าเขียว (Iguana iguana) ที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง และอิกัวน่าทะเล (Amblyrhynchus cristatus) ที่อาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะกาลาปากอส อีกัวน่ามีอายุประมาณ 20 ปี ในกรงเลี้ยงอายุจะน้อยกว่าในป่า เนื่องจากการดูแลที่ไม่เหมาะสม
พิษ-ภัยจาก ออกัวน่า แนวปฏิบัติหากเลี้ยงอยู่
อิกัวน่าเขียว เป็นสัตว์ต่างถิ่น มักพบเชื้อซาลโมเนลลา คนอาจติดเชื้อจากการสัมผัส และการขับถ่ายของเสียไว้ตามทางถนน บ้านเรือน ซึ่งอาจปนเปื้อนอาหาร ซึ่งจะมีอาการอาเจียนท้องเสียได้ ผู้ที่ครอบครองอีกัวน่าเขียวไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องไม่ปล่อยสู่ธรรมชาติ การปล่อยอีกัวน่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
- หากมีการพบเห็นอิกัวน่าเขียว ให้แจ้งทางสายด่วน 1362 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ดักจับและนำส่งไปดูแลยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่มีอยู่ทั่วประเทศ
- ผู้ที่ครอบครองอิกัวน่าเขียว ให้มาแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่
– สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัดให้แจ้งต่อสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ในท้องที่รับผิดชอบ
– พื้นที่กรุงเทพฯ ให้แจ้งต่อกองคุ้มครองพันธุ์พืชป่าและสัตว์ป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติฯ