ไอคอนสยาม ชวนเสพงานศิลป์อินกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมรอบโลก ผ่านนิทรรศการกระทงนานาชาติ 16 ประเทศ วันนี้ – 27 พฤศจิกายน 2566 ณ ไอคอนลักซ์ ชั้น M ไอคอนสยาม
เที่ยววันลอยกระทงอย่างมีคุณค่า เสพงานศิลป์ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านกระทงรักษ์โลก พร้อมร้อยเรียงเรื่องราวที่น่าสนใจของแต่ละประเทศไว้ในกระทง โดยไอคอนสยาม แลนด์มาร์กระดับโลกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต 16 ประเทศ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ เปรู โปรตุเกส ซาอุดิอาระเบีย สวิสเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และ เวียดนาม
จัดนิทรรศการกระทงนานาชาติ โดยนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศมารังสรรค์เป็นกระทงอันสวยงามภายใต้แนวคิด “Eternity in Bloom” ความเบ่งบานไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อให้ผู้ชมงานได้สัมผัสถึงความงดงามของกระทงที่ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ สร้างสรรค์ความงดงามอย่างยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งวัสดุที่ใช้ ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาจากวัสดุรีไซเคิลและวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ อาทิ กระดาษที่ทำจากชานอ้อย เปลือกข้าวโพด ลำต้นของผักตบชวา และ พลาสติกชีวภาพที่ทำจากผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น
โดยได้นักศึกษาจาก 7 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง ช่วยรังสรรค์กระทงที่ประณีตและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ขอเชิญชมนิทรรศการกระทงได้ตั้งแต่วันนี้ – 27 พฤศจิกายน 2566 ณ ICONLUXE ชั้น M ไอคอนสยาม
ร่วมเปิดประสบการณ์ผ่านงานศิลป์อันทรงคุณค่า รวบรวมประวัติศาสตร์ทั่วทุกมุมโลกมาอยู่ในนิทรรศการกระทงนานาชาติ 16 กระทง ได้แก่
กระทง “มังกรจี้เซียง” จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่นำเสนอความเป็นสิริมงคลผ่าน “มังกรจี้เซียง” สัญลักษณ์ของอำนาจอันทรงพลัง โชคลาภและสิริมงคลควบคู่กับ ดอกโบตั๋น “ราชาแห่งมวลบุปผา” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเกียรติยศ ความมั่งคั่ง และชนชั้นสูง ตลอดจนความรัก ความเสน่หา และความงดงามของสตรีเพศ เป็นตัวแทนของความปรารถนาดี
กระทง “เมืองแห่งแสงสว่าง” จากประเทศฝรั่งเศส สะท้อนถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ปารีส 2024 ใน โดยเน้นที่พิธีเปิดโดยใช้พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำแซน เริ่มต้นที่มหาวิหารน็อทร์-ดาม และเน้นสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ของปารีสหลายแห่ง อย่างเช่น หอไอเฟล และสะพานอีกหลายแห่งในกรุงปารีส เช่น สะพานอเล็กซานเดอร์ที่ 3
กระทง นกยูงที่งามสง่าสีสันเจิดจ้าจากประเทศอินเดีย แสดงความถึงความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณอันลึกซึ้งระหว่างประเทศอินเดียและประเทศไทย ซึ่งทั้งสองวัฒนธรรมมีการแสดงความเคารพต่อแม่น้ำและแหล่งน้ำเพื่อการดำรงชีวิตมีความสำคัญอย่างลึกซึ้ง มีนกยูงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ เฉดสีอันเจิดจ้าของขนนกยูงเป็นการแสดงความเคารพต่อจิตวิญญาณของ “เทศกาลโฮลี” เป็นเทศกาลแห่งสีสัน โดยตั้งอยู่ บน Rangoli หรือ “แถวของสี” ที่วาดกันในช่วงเทศกาลดิวาลี เพื่อต้อนรับเทพีแห่งความเจริญรุ่งเรือง ช่วงเวลานี้ของปีเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองวัฒนธรรมต่างแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ สุดท้ายคือดอกทิวลิปเป็นตัวแทนของการต่ออายุและต่อเนื่องของชีวิต
กระทงที่จำลองวิหาร อูลุน ดานู เบอราตัน (ปูรา บราตัน) ในอินโดนีเซีย เป็นวัดในศาสนาฮินดูแห่งไศวนิกายที่สำคัญในบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลสาบบราตันในภูเขาใกล้กับพื้นที่ภูเขาทะเลสาบเบอดูกุล ใช้สำหรับถวายเครื่องสักการะและพิธีกรรมที่อุทิศให้กับเทพเจ้า Dewi Danu หรือเทพเจ้าแห่งแม่น้ำ ทะเลสาบ และแม่น้ำบาหลี และทะเลสาบบราตัน ทำหน้าที่เป็นแหล่งชลประทานหลักในเกาะบาหลีตอนกลาง ช่วยให้นาข้าวและสวน ทั่วทั้งหมู่บ้านเบอดูกุล มีความอุดมสมบูรณ์
กระทงที่แสดงถึง “แก่นแท้ของเวนิซ” อิตาลี การผสมผสานองค์ประกอบต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างประณีตเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการออกแบบทางด้านอุตสาหกรรมอันน่าทึ่ง และเพื่อแสดงแก่นแท้ของเวนิซ ซึ่งถ่ายทอดออกมาผ่านดอกไม้และเก้าอี้นีโม ที่มีรูปร่างเหมือนหน้ากากเวนิสอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศอิตาลีองค์ประกอบการออกแบบเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการแสดงออกทางศิลปะเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของ Italia Geniale ซึ่งเป็นอัจฉริยะด้านการสร้างสรรค์ของอิตาลี
กระเรียนกระดาษ (โอริสุรุ)และสันติภาพ กระทงของประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งรูปแบบในการพับกระดาษโอริงามิวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของญี่ปุ่น การพับนกกระเรียนจำนวนหนึ่งแล้วนำมาร้อยเรียงกันเรียกว่า “นกกระเรียนพันตัว (เซมบะสุรุ)” ซึ่งจะทำขึ้นเมื่อต้องการขอพรในเรื่องต่างๆ โดยแนวคิดการออกแบบกระทงโอริงามินกกระเรียน 2 ตัวนี้ แสดงถึงมิตรภาพความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นและสันติภาพโลก
พระโพธิสัตว์ในท่านั่งครุ่นคิด ประเทศเกาหลี นำความเชื่อทางด้านพระพุทธศาสนามาประยุกต์ในการประดิษฐ์กระทง โดยนำท่วงท่าจากพระโพธิสัตว์ในท่านั่งครุ่นคิด (ยุคสมัยสามก๊ก ต้นศตวรรษที่ 7 / สมบัติแห่งชาติ ลำดับที่ 83) มีต้นกำเนิดมาจากรูปภาพของเจ้าชายสิทธัตถะนั่งสมาธิเกี่ยวกับธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ก่อนจะเสด็จออกจากวัง
กระทงจากเม็กซิโก อันเป็นประเพณีที่ถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้วายชนม์แท่นบูชานี้ถูกรังสรรค์ขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการต้อนรับการกลับมาอีกครั้งของผู้วายชนม์อันเป็นที่รัก โดยมีสิ่งของสำคัญ 8 อย่างที่ใช้ในการจัดแท่นบูชา เกลือ น้ำ เทียน ดอกไม้ ขนมปังแห่งความตาย กระดาษฉลุลาย อาหาร ภาพถ่ายหรือภาพเหมือน
เมืองที่ดีต่อสุขภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระทงที่สะท้อนถึงประเทศประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านวิสัยทัศน์ของสภาพแวดล้อมในประเทศ อาทิ การปั่นจักรยานเป็นนวัตกรรมที่เป็นมากกว่ารูปแบบการเดินทาง เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในเมือง ทั้งยังเป็นมิตรกับโลกใบนี้และบรรดาผู้คน
กระทงที่แสดงถึง “ความร่ำรวยทางวัฒนธรรม” ของประเทศเปรู โดยรวบรวมเอกลักษณ์สำคัญได้แก่ ดอกเรตามา สัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และการฟื้นฟูที่เจริญรุ่งเรือง เรตาบโล งานฝีมืออันน่าทึ่งของช่างฝีมือที่ประดิษฐ์กล่องอย่างชำนาญ ทั้งฉากทางศาสนา การเต้นรำแบบดั้งเดิม การเฉลิมฉลอง ชีวิตประจำวัน รวมทั้งฉากงานเกษตรกรรม และยังมี โตริโต เด ปูการ่า ซึ่งเป็นวัวกระทิงเซรามิกอันเป็นเอกลักษณ์ แสดงการปกปักรักษา ความอุดมสมบูรณ์ และความสุข การรวมสิ่งเหล่านี้ไว้ในกระทง แสดงถึงความปรารถนาอันแรงกล้าในการสร้างอนาคตอันรุ่งโรจน์และความสามัคคี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างเปรูและไทย
กระทงสะท้อนเอกลักษณ์ของประเทศโปรตุเกส รวบรวมองค์ประกอบต่างๆที่สะท้อนถึงรูปแบบศิลปะและความหมาย โดยมีองค์ประกอบที่สร้างสรรค์อยู่บนกระทงไว้ดังนี้ The Portuguese guitar เป็นเครื่องสาย มีความหมายว่าโชคชะตา The Heart of Viana เป็นอัญมณีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งมีความงดงามเป็นพิเศษ และเหนือกาลเวลา Andorinhas เป็นนกนางแอ่นเซรามิค สัญลักษณ์ของความโชคดี ความรัก และความซื่อสัตย์ Azulejo คือ แผ่นเซรามิคที่มีรูปร่างเป็นสีเหลี่ยมจัตุรัส Portuguese pavement เป็นทางเท้าแบบดั้งเดิมมีลักษณะหินแบนเล็กๆ เรียงกันเป็นลวดลายหรือรูปภาพ คล้ายโมเสก Lencos dos Namorados ผ้าเช็ดหน้าคู่รัก Pena Palace พระราชวังเปนา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยองค์การยูเนสโก Red carnation คือ ดอกไม้ที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ปฏิวัติคาร์เนชั่น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการปฏิวัติเพื่อสันติ
กระทง “สุสานของบุตรแห่งคูซา” ซาอุดิอาระเบีย นำเสนอสุสานของบุตรแห่งคูซา หรือฉายา ปราสาทแห่งความเดียวดายเป็นสุสานหินที่สลักจากภูเขาหินทรายทั้งลูกโดดเด่นตั้งตระหง่านอยู่ ณ เมืองโบราณ เฮกรา โดยการสร้างสุสานนี้ใช้เทคนิคการสกัดจากหินจากบนล่าง เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมของประเทศที่เป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยว ได้รับการรับรองจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งแรกในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
กระทงที่สื่อถึง “ความร่วมมือของไทยและสวิสเซอร์แลนด์ผ่าน” E-Bus Switzerland เป็นการผสมผสานรถบัสไฟฟ้า E-Bus สีน้ำเงินที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพฯ กำลังเคลื่อนที่ในภูมิประเทศของสวิสเซอร์แลนด์ถัดจาก “Postauto” แบบดั้งเดิมของสวิสเซอร์แลนด์มันอยู่บนถนนที่คดเคี้ยวท่ามกลางเทือกเขาในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในรูปแบบที่ #ยั่งยืน และ #เป็นนวัตกรรม โดยทำหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์ถึงความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม พร้อมแสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 ประเทศเล็งเห็นถึงความห่วงใยและใส่ใจสภาพภูมิอากาศ
กระทง สัญลักษณ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เป็นการนำตราสัญลักษณ์นี้ได้รวบรวมเอาดอกไม้ประจำชาติจาก 4 ชาติ ของสหราชอาณาจักรเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ ดอกกุหลาบของอังกฤษ ดอกทริสเติลของสกอตแลนด์ ดอกแดฟโฟดิลของเวล และแซมรอคจากนอร์เทิร์นไอร์แลนด์ ดอกไม้ประจำชาติทั้ง 4 ชนิด ถูกร้อยเรียงเป็นหนึ่งภายใต้มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด อันเป็นมงกุฎที่ทรงสวมระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
กระทงแห่งการ “ขอบคุณ” ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องในโอกาสวันขอบคุณพระเจ้าและครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย โอกาสอันมงคลทั้งสองเหตุการณ์นี้เป็นการเฉลิมฉลองเพื่อแสดงความรู้สึกขอบคุณตลอดมาและมิตรภาพที่ดีตลอดไประหว่างทั้งสองประเทศ
การเต้นรำโคม Luc Cung Hoa Dang ที่สื่อผ่านการออกแบบกระทงของประเทศเวียดนาม เป็นท่าเต้นของราชวงศ์ Nha Nhac ถือเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้อันล้ำค่าและเป็นภาคภูมิใจของชาวเวียดนาม UNESCO ได้ยอมรับให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และถือเป็นผลงานชิ้นเอกของประเพณีมุขปาฐะ ของมนุษยชาติ (2003)
แค่แวะมาชมนิทรรศการกระทงนานาชาติ 16 ประเทศ ก็เหมือนได้เที่ยวรอบโลกพร้อมศึกษาประวัติศาสตร์ สะท้อนเรื่องราวผ่านกระทงรักษ์โลกนี้ได้ตั้งแต่วันนี้ -27 พฤศจิกายน 2566 ณ ICONLUXE ชั้น M ไอคอนสยาม