อาบแสงจันทร์ วันลอยกระทง 2566 วันเพ็ญเดือนสิบสอง เมื่อน้ำตะนองเต็มตลิ่ง เราก็มาลอยกระทงกันจ้า วันนี้ ลี้แต่ไม่ลับ ได้รวบรวมข้อมูลดีๆ มาฝากเช่นเคย กับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวันนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น ประวัติวันลอยกระทง ที่มาที่ไปตั้งแต่ในอดีต เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงวันนี้ วันที่พระจันทร์เต็มดวงในวันจันทร์ ที่เรียกกันว่า จันทร์ซ้อนจันทร์ หากใครได้อาบแสงจันทร์วันนี้ ก็ถือว่าเป็นมงคลกับตัวเอง ยิ่งกับสาวๆ ด้วยแล้ว เพราะจะช่วยเสริมเสน่ห์ เป็นมหามงคล รวมถึงยังเพิ่มโชคลาภ เรียกทรัพย์และสิ่งดีๆ เข้าตัวอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีคำอธิษฐานขอพร ว่ากันว่าวันนี้แรงมาก อยากขออะไร ตั้งจิตตั้งใจให้ดี แล้วมีสมาธิให้เพียงพอ ก่อนเอ่ยวาจาขอพรกันเลยจ้า เราไปเริ่มกันที่ประวัติวันลอยกระทงกันก่อน…
ประวัติ วันลอยกระทง คำอธิษฐาน อาบแสงจันทร์ เสริมเสน่ห์โชคลาภ
วันลอยกระทง คือ?
จากข้อมูลพบว่า ลอยกระทง ถือเป็นเทศกาลประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ไทตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งจะมีขึ้นและตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย โดยประเพณีนี้กำหนดขึ้นก็เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ และขอขมาต่อพระแม่คงคา ซึ่งถือเป็นเทวดาในคติฮินดู แต่เทศกาลนี้ก็มีร่องรอยหลักฐาน ย้อนกลับไปถึงชาติจีนและอินเดียโบราณด้วย
ในประเทศไทยมีชื่อเรียกว่า “ลอยกระทง” ส่วนประเทศอื่น ๆ มีชื่อเรียกแตกต่างกัน โดยเมียนม่ามีชื่อว่า “เทศกาลตาซองได” ขณะที่ศรีลังกา มีชื่อว่า “II Full Moon Poya” ส่วนจีนใช้ชื่อว่า “เทศกาลโคมไฟ”
ประวัติ วันลอยกระทง
ประเพณี ลอยกระทง จัดเป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เท่าที่ปรากฏกล่าวได้ว่า มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์ ที่กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามองค์ ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม
ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยมีการปล่อยโคมลอยเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา
ย้อนรอย วันลอยกระทง สุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหง
ตามเรื่องนางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวไว้ว่า…ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่า “พิธีจองเปรียง” ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสอง มาใช้ใส่เทียนประทีป หนังสือเรื่องนี้ได้อ้างพระดำรัสของพระร่วงว่า…
“จึ่งมีพระราชบริหารบำหยัดสาปสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนด นักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุท ก็ปรากฏมาจนเท่าทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่า ลอยกระทงทรงประทีป เหตุดังนี้ข้าน้อยผู้ชื่อว่า “นพมาศ” ก็ถึงซึ่งมีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดินได้อย่างหนึ่ง…”
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์, ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
ลอยต้นกล้วย แทนลอยดอกบัว สมัยรัตนโกสินทร์
ข้อมูลยังระบุไว้อีกว่า แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่า เทศกาล ลอยกระทง ไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1 จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เปลี่ยนแปลงจากการทำจากดอกบัวเป็นต้นกล้วย เพราะดอกบัวดังกล่าวหายากและมีน้อย จึงใช้ต้นกล้วยทำแทนแล้วดูไม่สวย จึงใช้ใบตองมาพับแต่ง จนสวยสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
อธิษฐานขอพร และขอขมาพระแม่คงคา วันลอยกระทง 2566
เอาล่ะ… ลี้แต่ไม่ลับ ว่า ถึงเวลา ลอยกระทง ขอให้ตั้งใจให้ดี มีสมาธิกับการสักการะและขอขมาพระแม่คงคา และกล่าวคำอธิษฐานขอพรตามนี้จ้า
คำอธิษฐานขอพร
มะยัง อิมินา ปะทีเปนะ นัมมะทายะ
นะทิยา ปุลิเนฐิตัง มุนิโน ปาทะวะลัญชัง อะภิปูเชมะ
อะยัง ปะทีเปนะ มุนิโน ปาทะวะลัญชัสสะ ปูชา
อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ
คำแปล
ข้าพเจ้าขอบูชาซึ่งรอยพระพุทธบาท
ที่ตั้งอยู่ริมหาดทรายแม่น้ำนัมมทา
ขอให้การบูชารอยพระพุทธบาทด้วยประทีปกระทงนี้
เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
สิ้นกาลนานเทอญ
อาบแสงจันทร์ จันทร์ซ้อนจันทร์ ลอยกระทง 2566 เสริมเสน่ห์โชคลาภ
เมื่อ ลอยกระทง 2566 เสร็จสรรพ ลี้แต่ไม่ลับ อยากชวนทุกคนมา อาบแสงจันทร์ เนื่องจากวันนี้ เค้าเรียก จันทร์ซ้อนจันทร์ เพราะเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงในวันจันทร์ ที่ 27 พ.ย. 2566 พอดี ซึ่งเป็นวันพระ และยังเป็นวันมหาฤกษ์อีกด้วย
มีความเชื่อว่า วันที่พระจันทร์เต็มดวงในวันจันทร์ จะช่วยส่งเสริมพลังทางจันทรคติ คือ วันขึ้น 15 ค่ำ และทางสุริยคติ คือวันจันทร์ โดยในอดีตจะมีพิธี “อาบแสงเพ็ญ” หรือ “อาบแสงจันทร์” ในช่วงที่พระจันทร์เต็มดวง และลอยตั้งฉากเหนือศีรษะพอดี ในช่วงเวลาเที่ยงคืนของคืนนี้ หากใครได้อาบแสงจันทร์ โดยเฉพาะสาวๆ ก็เชื่อว่า จะช่วยเพิ่มเสริมเสน่ห์ โชคลาภ และการเงินให้คล่องตัว จากการขอพรขอเงินจากพระจันทร์จ้า
เริ่มทำพิธีกันแบบสรุปง่ายๆ นำขันหรือภาชนะใส่น้ำสะอาด มาวางตั้งให้ต้องแสงจันทร์ ในเวลาก่อนเที่ยงคืนสักเล็กน้อย โดยเราสามารถใส่ดอกบัวลงในขันด้วยก็ได้ ถ้าไม่มี…ก็ไม่เป็นไร
จากนั้นให้สังเกตเงาพระจันทร์ ว่าสะท้อนอยู่เหนือน้ำ กลางขันหรือภาชนะ ถ้าอยู่ตรงกลางแล้ว ก็ให้สวดบทบูชาพระจันทร์ โองการจันทร์เพ็ญ มนต์อิติปิโสบัวบาน จนเงาพระจันทร์ลอยเลื่อนออกจากขันน้ำ
คาถาอิติปิโสบัวบาน หลวงพ่อกลั่น ธมฺมโชติ วัดพระญาติการาม
ตั้งนะโม 3 จบ
อิติปิโส ภะคะวา มะอะอุ ทุกขัง กุสลาธัมมา อะกุสะลาธัมมา
อิติปิโส ภะคะวา อุอะมะอุ อะนัตตา ทุกขา อะทุกขา ธัมมา
สะวาสุนามะรูปัง ทุกขัง สะวาสุนามะรูปัง อะนิจจัง
สะวาสุนามะรูปัง อะนัตตา อะระหังสัมมา ติวาคะภะโธฯ
แล้วเราก็อธิษฐานขอพรเลยจ้า ไม่ว่าจะเสน่ห์ โชคลาภ เงินทอง ธุรกิจการค้าการขาย ขออย่างตั้งใจไปเลยนะ
ลอยกระทง 2566 นี้ ลี้แต่ไม่ลับ ขอให้ทุกคน สวยๆ รวยๆ เฮงๆ สุขสันต์วันลอยกระทงหนาออเจ้า.