ครั้งแรกในไทย มทร.ล้านนา ผุดนวัตกรรม “เซนเซอร์” ระบบ เตือนไฟป่า แบบเรียลไทม์ แจ้งพิกัดไฟป่า ป้องกันไฟลุกลามทำลายผืนป่า ลดการสูญเสียเจ้าหน้าที่ ทั้งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เร่งพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น และราคาถูก หวังติดตั้งช่วยดับไฟป่าทั่วประเทศ
ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หรือ มทร.ล้านนา เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ทางภาคเหนือตอนบน มักมีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และไฟป่า มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชน จึงได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาไฟป่า ซึ่งศูนย์วิจัยระบบพลังงานสะอาด มทร.ล้านนา ได้ดำเนินโครงการวิจัย “ลมหายใจเชิงดอย : การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการทำงานให้บริการสาธารณะ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะ ประชาชนของเครือข่ายเทศบาลลุ่มน้ำแม่กวงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์ม การเตือนภัยจุดที่มีความร้อน” อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยได้มีการพัฒนาระบบ เซนเซอร์ เตือนภัยจุดที่มีความร้อน ทำให้สามารถรู้พิกัดจุดเกิดไฟป่า รวมถึงลดปริมาณการเข้าไปในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ร่วมด้วย เพราะที่ผ่านมา เมื่อไม่มีระบบเซนเซอร์ เวลาเกิดไฟป่า จะมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตจากการเข้าไปดับเพลิงจำนวนมาก เพราะไม่รู้ทิศทางของลม และไม่สามารถหนีออกมาได้ทัน
“ระบบเซนเซอร์ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นการแจ้งเตือน และรู้พิกัดไฟป่า จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดับเพลิงได้ทันควบคุมการลามของไฟป่าได้ รวมถึงเป็นการลดปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 อันเกิดจากไฟป่า โดยหลังจากนี้จะพัฒนาระบบเซนเซอร์ที่มีราคาไม่เกิน 100 บาท เป็นการใช้แบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งาน 2-3 ปี เมื่อแบตเตอรี่หมดก็สามารถนำกลับมาเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ ปัจจุบันยังไม่มีระบบเซนเซอร์แจ้งเตือนไฟป่าแบบเรียลไทม์ อย่างไรก็ตามระบบดังกล่าวยังคงต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถใช้งานได้ดีขึ้น ประหยัดมากขึ้น และติดตั้งได้ตามพื้นที่ต่างๆ ในป่า เพราะการที่รู้ตำแหน่งเกิดไฟป่าอย่างชัดเจน จะช่วยให้ป่าไม่ถูกทำลาย ช่วยแก้ปัญหามลพิษ และสิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้ง จะมีการพัฒนาเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึง และร่วมแก้ปัญหาร่วมกัน” ผศ.ดร.จัตตุฤทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ มทร.ล้านนา ยังได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ และชุมชน ดำเนินการเกี่ยวกับไฟป่าผ่านโครงการต่างๆ มากมาย อาทิ โครงการ Smoke Watch ซึ่งเป็นการออกแบบระบบแอปพลิเคชัน โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
1.จุดความร้อน VIIRS Hotspot
2.แจ้งการเกิดไฟ
3.สถิติรายงานการแจ้งไฟ
4.แผนที่แสดงการแจ้งไฟ และมีการแจ้งเตือน แสดงผลเฉพาะจุดความร้อน VIIRS จะดำเนินการในพื้นที่จังหวัดเชียงรายก่อน