ไบโพลาร์ โรคที่หลายคนคาดไม่ถึง ว่าจะเกิดขึ้นกับตนเองได้ วันนี้ TOPPIC Time ชวนทุกคนมารู้จัก โรคไบโพลาร์ ให้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับอาการของไบโพลาร์ ก่อนที่จะรุนแรง บางครั้งคนรอบข้างก็ไม่อาจรู้ตัวได้เช่นกัน เพราะรอบกายมีแต่ความเครียด ยิ่งในยุคปัจจุบัน หลายคนน่าเป็นห่วงมากๆ ไปค่ะ…ไปรู้จัก ไบโพลาร์ พร้อมๆ กัน
รู้จัก ไบโพลาร์ โรคอารมณ์สองขั้ว เช็กอาการและสาเหตุ
ไบโพลาร์ โรคอารมณ์สองขั้ว คือ…
ไบโพลาร์ หรือ Bipolar Disorder หรือที่เรารู้จักกันในชื่อภาษาไทยว่า โรคอารมณ์สองขั้ว คือ โรคจิตเวชอย่างหนึ่ง ที่เกิดจากความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์ชนิดหนึ่ง ที่มีการขึ้นและลงของอารมณ์อย่างรุนแรง
สาเหตุการเกิดโรค ไบโพลาร์ หรือ อารมณ์สองขั้ว
โดยสาเหตุสำคัญของการเกิดโรค ไบโพลาร์ มาจากสาเหตุที่สารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ หรืออาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม หรืออดนอนบ่อยๆ ร่วมด้วย ซึ่งการแสดงออกทางอาการแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
การแสดงออกทางอาการ ของ ไบโพลาร์
1. กลุ่มอาการแมเนีย (Mania) หรือเรียกว่า ขั้วบวก
– อารมณ์ดี คึกคัก ครื้นเครง
– พลังงานล้นเหลือ ทำกิจกรรมต่างๆปริมาณมาก
– ความคิดพรั่งพรู พูดมาก
– ไม่มีสมาธิ ถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย
– หุนหันพลันแล่น
– ไม่หลับไม่นอน
– ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
2. กลุ่มอาการซึมเศร้า (Depress) หรือเรียกว่า ขั้วลบ
– รู้สึกเศร้า ไม่มีความหวัง ไม่มีคุณค่า หรือรู้สึกผิด
– อ่อนเพลีย เสียความสนใจในการทำกิจกรรมต่างๆที่เคยชอบ
– ไม่มีสมาธิจดจ่อ
– พฤติกรรมการกินเปลี่ยน
– มีปัญหาการนอนหลับ
– มีความคิดอยากตาย
สังเกต อารมณ์ ของคนเป็น ไบโพลาร์
ทั้งนี้โดยปกติในแต่ละวัน คนเราจะมีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในระดับหนึ่ง แล้วกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ รับผิดชอบหน้าที่การงาน ครอบครัว สังคมได้ แต่คนที่มีอารมณ์ผิดปกติ เป็น ไบโพลาร์ คือ เกิดอารมณ์ขั้วบวก หรืออารมณ์ขั้วลบ เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป และไม่สามารถกลับเข้าสู่อารมณ์ปกติได้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว แนะนำควรมาพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและรักษาอย่างเหมาะสม
อาการรุนแรงของ ไบโพลาร์ ที่ควรพบแพทย์เร่งด่วน
– มีความคิดอยากตาย
– มีอาการทางจิต/อาการคล้ายโรคจิตเภทที่รุนแรง
– กระสับกระส่ายมาก
– ไม่สามารถดูแลตัวเองได้
วิธีการรักษา ไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว
การวินิจฉัยโรคอารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพลาร์ จะเริ่มจากการซักประวัติโดยละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อแยกโรคจากภาวะอื่นที่ทำให้มีอาการคล้ายโรคอารมณ์สองขั้ว
สำหรับการรักษาโรค ไบโพลาร์ หรือ อารมณ์สองขั้ว รักษาได้โดยใช้ยากลุ่มควบคุมอารมณ์ ยาต้านเศร้าและยารักษาอาการทางจิต ตามอาการร่วมกับการทำจิตบำบัด พฤติกรรมบำบัดและการปรับการใช้ชีวิตประจำวัน กรณีมีอาการรุนแรงทางจิตหรือมีความคิดอยากตาย ควรได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลทันที สอบถามรายละเอียดได้ที่ โรงพยาบาล BMHH.