Eating Disorder หรือ โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ คืออะไร? แล้วถือเป็นโรคด้วยเหรอ? ท่ามกลางความสงสัย วันนี้ TOPPIC Time มีคำตอบมาฝาก เกี่ยวกับโรคนี้ ที่คุณอาจเป็นไม่รู้ตัว แต่ก่อนที่จะไปรู้จักโรคดังกล่าว เราอยากให้ทุกคน เช็กลิสต์พฤติกรรมการกินของคุณก่อน ว่ามีเข้าข่ายเป็นโรคหรือไม่? เริ่มสำรวจตัวเองกันเลย
เช็คลิสต์ 5 ข้อ เข้าข่ายโรค Eating Disorder พฤติกรรมการกินผิดปกติ
1. คุณเคยทำให้ตัวเองอาเจียน ใช่หรือไม่
2. คุณมีความกังวลว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมปริมาณอาหารที่ตัวเองกินได้ ใช่หรือไม่
3. คุณน้ำหนักลดไปมากกว่า 6 กิโลกรัม ใน 3 เดือน ใช่หรือไม่
4. คุณเชื่อว่าตัวเองอ้วน ทั้งๆ ที่คนอื่นบอกว่าคุณผอมเกินไป ใช่หรือไม่
5. คุณคิดว่า อาหาร มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคุณมาก หรือมีความหมกมุ่น จนกระทั่งวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป เพราะ อาหาร ใช่หรือไม่
มาถึงจุดนนี้แล้ว หากคำตอบของคุณตรงกับลิสต์ข้างต้นตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป และหากมีอาการเหล่านี้ เช่น ไม่สามารถควบคุมปริมาณอาหารที่กินได้ หรือกินเท่าไหร่ก็อิ่ม บางทีหลังกินอาหารเสร็จแล้ว มีอาการคลื่นไส้และวิ่งไปอาเจียน หรือมีความกังวลว่า ตนเองอ้วนจนออกกำลังกายอย่างหนัก และมีความรู้สึกอยากผอมลง อาการเหล่านี้คือสัญญาณเตือนว่า อาจจะเข้าข่ายโรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ หรือ Eating Disorder
นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital ระบุว่า กินมากกว่าปกติ กินน้อยกว่าปกติ คือสัญญาณของโรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ พร้อมกับให้รายละเอียดไว้ดังนี้…
Eating Disorder โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ คือ?
โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ (Eating Disorders) เป็นโรคที่มีความสัมพันธ์กับสภาวะจิตใจ เช่น ในกลุ่มที่กินน้อยกว่าปกติ อาจมีค่านิยมเกี่ยวกับรูปร่างที่ผอมบาง และมีการอดอาหารที่ผิดวิธี ขณะเดียวกันในกลุ่มที่กินเยอะกว่าปกติ อาจมีพฤติกรรมที่กินเยอะ จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จึงส่งผลให้บางคนเกิดความกังวลมาก กลายเป็นโรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ โรคนี้พบได้บ่อยแต่มักจะถูกมองข้าม ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้ อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
4 กลุ่ม โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ หรือ Eating Disorder
1. Anorexia nervosa เป็นกลุ่มที่มีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างมาก จนส่งผลต่อพฤติกรรมการกิน ทำให้กินน้อยลง นำไปสู่น้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
2. Bulimia nervosa เป็นกลุ่มที่มีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างมาก แต่ก็ควบคุมให้ตัวเองหยุดกินไม่ได้ จึงมีช่วงเวลาที่กินอาหารปริมาณมาก แบบควบคุมไม่อยู่ หลังจากนั้นก็เกิดความรู้สึกผิด และพยายามชดเชยในสิ่งที่กินเข้าไป โดยการทำให้ตัวเองอาเจียน หรือออกกำลังกายมากจนเกินไป
3. Binge eating disorders เป็นกลุ่มที่ควบคุมให้ตัวเองหยุดกินไม่ได้ จึงมีช่วงเวลาที่กินอาหารปริมาณมากแบบควบคุมไม่อยู่
4. Other eating disorders คือ โรคทางการกิน ซึ่งอยู่นอกเหนือโรคที่พบบ่อยข้างต้น
ทั้งนี้ การวินิจฉัย โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ ไม่ได้วิเคราะห์จากการกินมาก กินน้อย หรือน้ำหนักตัว เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องวิเคราะห์ให้ลึกถึงความคิด ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับการกิน, รูปร่าง, ระยะเวลาที่เป็น, และผลกระทบที่เกิดขึ้น
หากสงสัยว่าตนเองเริ่มมีอาการที่มีลักษณะพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ควรรีบมาพบจิตแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา หากได้รับการรักษาเร็วก็จะมีโอกาสหายขาดได้ เพียงแค่สังเกตอาการของตัวเอง หรือคนรอบข้าง ว่ามีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ เช่น มีความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างมาก จนส่งผลให้มีพฤติกรรมการกินน้อย รวมไปถึงการอดอาหารที่ผิดวิธี, ขณะที่บางคนมีพฤติกรรมหยุดกินไม่ได้ หรืออยากอาหารมากผิดปกติและล้วงคออาเจียน
สำหรับการรักษา Eating Disorder หรือ โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ จะเริ่มรักษาด้วยการบำบัดความคิด และพฤติกรรมการกิน โดยจะมีนักโภชนาการที่สามารถให้คำปรึกษา การกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ได้น้ำหนักที่เหมาะสม และการใช้ยาในบางกรณี อย่างไรก็ตาม ครอบครัวและเพื่อน ก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาสูงขึ้นด้วย.