พบ ‘รอยตีนไดโนเสาร์’ ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และอาจเก่าแก่ที่สุดในทวีปเอเชีย บริเวณเขตรอยต่อระหว่าง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ และ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ตอกย้ำสัตว์ดึกดำบรรพ์ พร้อมเร่งสำรวจ ศึกษา ค้นหาต่อเนื่อง…
พิกัดพบ รอยตีนไดโนเสาร์ รอยใหม่
มีรายงานว่า คณะสำรวจหน่วยวิจัยไดโนเสาร์ นำทีม ดร.สุรเวช สุธีธร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และว่าที่ร้อยตรี กฤษณะ สุดชา นักธรณีวิทยา ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง และคณะนักศึกษา ลงพื้นที่สำรวจแหล่งรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์น้ำตกตาดใหญ่ รอยตีนไดโนเสาร์ อยู่ในเขตรอยต่อระหว่าง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ และอ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น
สืบเนื่องจากที่คณะสำรวจจากกรมทรัพยากรธรณี ได้รายงานการค้นพบ และพบรอยสัตว์ดึกดำบรรพ์กลุ่มอาร์โคซอร์ รวมถึงรอยที่คาดว่าเป็นของไดโนเสาร์ซอโรพอด รอยตีนไดโนเสาร์ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567
พบ รอยตีนไดโนเสาร์ เก่าแก่ที่สุด ซอโรพอด 2 ตัวเดินคู่กัน
ในการลงพื้นที่สำรวจครั้งนี้ นิสิตชั้นปี 4 ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ร่วมคณะฯ
– พบแนวทางเดินใหม่ และเป็นการค้นพบรอยตีนไดโนเสาร์เทอโรพอด
– มีสิ่งบ่งชี้ว่า เป็นรอยตีนไดโนเสาร์ ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมาในประเทศไทย และอาจจะเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย (Peng et al., 2023; a mid Norian age, 218.4 Ma)
– รอยตีนไดโนเสาร์ ที่พบ มี 3 แนวทางเดิน ปรากฏลักษณะ 3 นิ้วของไดโนเสาร์เทอโรพอดชัดเจน
– พบรอยทางเดินของไดโนเสาร์ซอโรพอด 2 ตัวเดินคู่กัน
– ปรากฏรอยตีนหน้าและตีนหลังชัดเจน (รอยตีนไดโนเสาร์) ถือได้ว่าแหล่งรอยตีนน้ำตกตาดใหญ่นี้ มีศักยภาพด้านแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ
แหล่งพบ รอยตีนไดโนเสาร์ อายุกว่า 200 ล้านปี
แหล่งรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์ รอยตีนไดโนเสาร์ ที่น้ำตกตาดใหญ่ ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2566 เดิมค้นพบเฉพาะรอยตีน เป็นแนวทางเดินของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด จำนวน 2 แนว พบอยู่ในชั้นหินโคลน ตอนล่างของหมวดหินห้วยหินลาด อายุประมาณ 225-220 ล้านปีก่อน หรือยุคไทรแอสซิกตอนปลาย (Late Triassic) ถือว่าเป็นรอยตีนสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียเท่าที่ค้นพบในตอนนี้
อะเมซิ่ง รอยตีนไดโนเสาร์ – ห้วยขนมชั้น น้ำตกตากใหญ่
นอกจาก รอยตีนไดโนเสาร์ ที่คาดว่าน่าจะเก่าแก่ที่สุดในไทยแล้ว ความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ที่เกิดจากผลจากการผุพังของผาหินได้สร้างทัศนีย์ภาพที่แปลกตา โดดเด่นไม่เหมือนใครของน้ำตกตากใหญ่ และลำห้วยที่เหมือนถูกทับถมด้วยก้อนขนมชั้น จนกลายเป็นลำห้วยขนมชั้นหนึ่งเดียวในไทย
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ คณะสำรวจหน่วยวิจัยไดโนเสาร์ มีงานที่ต้องทำต่อเนื่องจากนี้ หลังค้นพบ รอยตีนไดโนเสาร์ คือ จะต้องหาอายุที่แน่ชัดขึ้นของชั้นหินที่พบรอยตีนไดโนเสาร์ ศึกษารอยตีนต่างๆ อย่างละเอียด รวมถึงขยายผลการสำรวจเพิ่มขึ้นด้วย พร้อมขอแรงสนับสนุนโดยเฉพาะด้านปัจจัยทุนทรัพย์ เพื่องานศึกษาวิจัยของไทย รวมถึงเพิ่มความอะเมซิ่งของไทยในอีกวาระหนึ่ง
ขอบคุณข้อมูล-ภาพ DinoPong