รู้ไหม?? ประเทศไทยมีกฎหมายเปิดโอกาสให้คนทั่วไป สามารถครอบครอง หรือเลี้ยงสิงโตได้ แต่ต้องยื่นแจ้งอย่างชัดเจนกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ แหล่งที่มา ซื้อจากไหน ใบเสร็จ จัดสถานที่เลี้ยงดูเหมาะสม ไม่เคลื่อนย้าย ฝ่าฝืนมีความผิด โทษทั้งจำคุก 1 ปี หรือปรับ 1 แสน หรือทั้งจำและปรับ ล่าสุด จ่ออนุญาตเฉพาะสวนสัตว์ มีครอบครองในไทย 224 ตัว
ปมดราม่า ‘สิงโต’ ผุดโซเชียล
‘สิงโต’ เป็นสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครอง ชนิด ก (ดุร้าย) โดยสังคมออนไลน์ เปรียบเปรยว่า จัดเป็นสัตว์เลี้ยงของคนมีกะตังค์ แต่ก็ทำให้หลายคนถึงกับผวา จากกรณีมีการแชร์คลิปในสังคมออนไลน์ ที่ชาวต่างชาติขับรถหรู พาสิงโตชมวิวกลางเมืองพัทยา ทำเอาชาวบ้าน นักท่องเที่ยวและคนใช้รถใช้ถนนต่างตกใจกลัว กระทั่ง มีข่าวอีกครั้งในเมืองพัทยา กับการเลี้ยงสิงโต 2 ตัวรวมกับสุนัขร็อตไวเลอร์ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการนำสัตว์ดุร้ายมาเลี้ยง และมายังแหล่งท่องเที่ยว ที่เกรงว่าจะเกิดอันตราย แม้ว่าตามระเบียบหรือกฎหมายจะเปิดช่องไว้ในเรื่องนี้
ตัวเลขครอบครอง ‘สิงโต’ ทั่วไทย
ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่า มีการแจ้งครอบครองสิงโตทั่วประเทศ ทั้งในสวนสัตว์และบุคคล รวมจำนวน 224 ตัว
– มากที่สุดในพื้นที่ สบอ.3 (บ้านโป่ง) แจ้งครอบครอง 8 ราย รวม 57 ตัว
– รองลงมาเป็น สบอ.2 (ศรีราชา) แจ้งครอบครอง 8 ราย รวม 47 ตัว (ในจำนวนนี้เป็นของคาเฟ่ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา 27 ตัว)
– ในพื้นที่กรุงเทพฯ แจ้งครอบครอง 4 ราย รวม 39 ตัว ( ในจำนวนนี้เป็นของบริษัทซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) 36 ตัว)
– เชียงใหม่แจ้งครอบครอง 3 ราย รวม 31 ตัว (ในจำนวนนี้เป็นของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) 24 ตัว)
ล่าสุด นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกปากว่า ต่อไปนี้ กรมอุทยานฯ มีแนวคิดจะห้ามบุคคลไม่ให้ครอบครองสัตว์ดุร้ายที่อาจจะเป็นอันตรายอีกต่อไป เพราะถือว่าไม่มีความจำเป็น หากไม่ใช่สวนสัตว์ก็จะไม่อนุญาตให้ครอบครอง โดยกรมอุทยานฯ ได้กำหนดสัตว์ป่าควบคุม ชนิด ก. สัตว์ในกลุ่มสัตว์ขนาดใหญ่ ดุร้าย มี 10 ชนิด 3 กลุ่ม ได้แก่ เสือชีตาห์ สิงโต เสือจากัวร์ กอริลลาภูเขา กอริลลา ชิมแปนซีธรรมดา โบโนโบ อุรังอุตังสุมาตรา อุรังอุตังบอร์เนียว และงูอนาคอนดาเขียว
ระเบียบการครอบครอง ‘สิงโต’
– สิงโต (Panthera Leo) ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิด ก ต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด เนื่องจากลักษณะสายพันธุ์มีความดุร้าย หรือด้วยลักษณะ พฤติกรรม อาจสร้างความหวาดกลัวหรือทำอันตรายต่อชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สินมนุษย์
– สิงโตต้องดูแลรักษาในสถานที่ครอบครองที่แข็งแรงปลอดภัย
– ห้ามเคลื่อนย้ายก่อนได้รับอนุญาต
– ระเบียบเบื้องต้นการครอบครองสิงโต หากฝ่าฝืนมีความผิด ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติฯ ว่าด้วยการแจ้งและการรับแจ้ง และการครอบครองซึ่งสัตว์ป่าควบคุมและซากสัตว์ป่าควบคุม 2565 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การขออนุญาตมี ‘สิงโต’ ไว้ในครอบครอง
– ผู้มีสิงโตไว้ในครอบครองต้องทำการแจ้ง ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีเอกสารหลักฐานการได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ใบนำเข้า ใบกำกับการจำหน่าย หรือใบเสร็จจากร้านค้า เพื่อยืนยันการได้มาอย่างถูกต้อง (ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2565)
– ผู้ใดประสงค์ดำเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสิงโต ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 28 หรือค้าสัตว์ป่าควบคุม มาตรา 30 จะต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาเสนอการออกระเบียบ ขั้นตอนการปฏิบัติในการการแจ้งการเพาะพันธุ์และค้าสัตว์ป่าควบคุม (รวมถึงสิงโต) ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และเมื่อผ่านการพิจารณา และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป
ทั้งนี้ เนื่องจากสิงโต อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าควบคุมชนิด ก จึงต้องมีการพิจารณาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบคอบ ในการอนุญาตให้เพาะพันธุ์และค้าสิงโตต่อไป
– มีสิงโตแล้วไม่แจ้งการครอบครองจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– สอบถามเพิ่มเติมที่ ส่วนจัดการสัตว์ป่าต่างประเทศ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา 02-5610777 ต่อ 2912
สถานที่ครอบครอง ‘สิงโต’
– ต้องดูแลรักษาสิงโต ณ สถานที่ระบุในใบรับรองแจ้งการครอบครองอย่างเคร่งครัด
– ต้องจัดสถานที่ครอบครองสิงโตให้มั่นคงแข้งแรง เพื่อป้องกันสิงโตหลุดไปทำร้ายผู้อื่น และต้องจัดทำป้ายเตือนอย่างเคร่งชัดเจน
– พื้นที่เพียงพอต่อการเลี้ยงสิงโต ต้องมีพื้นที่อยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 4×4 เมตร ให้สิงโตได้วิ่งเล่น เพื่อลดความเครียด
การเคลื่อนย้าย ‘สิงโต’
– ก่อนเคลื่อนย้ายสิงโต ต้องจัดระบบอย่างเหมาะสมปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น
– การเปลี่ยนแปลงสถานที่เลี้ยงสิงโตให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการเคลื่อนย้ายไม่น้อยกว่า 15 วัน
– การนำสิงโตไปจัดแสดง หรือวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากการเลี้ยงหรือการเก็บรักษาตามปกติระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ให้ยื่นแบบแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนเคลื่อนย้าย
– การนำสิงโต มาโชว์ในที่สาธารณะ ไม่ดูแลรักษาในสถานที่ครอบครองที่แข็งแรงปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– กรณีสิงโตหลุด ให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใน 24 ชั่วโมง และเมื่อจับกลับมาได้ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทันที
สนนราคาซื้อขายสิงโต เบื้องต้นในตลาด
– ลูกสิงโตขาว (15 วัน ถึง 30 วัน) เริ่มต้นราคา 500,000 – 2,000,000 บาท (อยู่ที่เกรด)
– ลูกสิงโต สีน้ำตาล เริ่มต้นราคาประมาณ 300,000 บาท
– ลูกไลเกอร์ หรือ สิงโต ผสมพันธุ์ เสือโคร่ง เริ่มต้นราคา 2,000,000 บาท
– สิงโตสีขาวตาฟ้า เริ่มต้นราคากว่า 2 ล้านบาทต่อตัว
– เสือผสมสิงโต เริ่มต้นประมาณ 2 ล้านบาทต่อตัว
*ทั้งนี้ ราคาทั้งหมดขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความนิยม และภาวะตลาดความต้องการในช่วงนั้นๆ )
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช