พฤติกรรมรุนแรงในเด็ก มีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีการแก้กฎหมายกันเลยทีเดียว ทั้งนี้สาเหตุความรุนแรงในเด็ก อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย TOPPIC Time ได้ข้อมูลมาจาก รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้…
สาเหตุการเกิด พฤติกรรมรุนแรงในเด็ก
พฤติกรรมรุนแรงในเด็ก หรือ พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในเด็ก เกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัย คือ
1. ปัจจัยส่วนตัว เช่น พันธุกรรม พื้นอารมณ์ และความผิดปกติของสมอง เป็นต้น
2. ปัจจัยด้านครอบครัวและการเลี้ยงดู
3. ปัจจัยทางสังคมที่มีการแข่งขันสูง และใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นทางวาจาหรือทางร่างกาย
4. ปัจจัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้เด็กๆ เข้าถึงข้อมูลความรุนแรงต่างๆ จากสังคมออนไลน์ได้มากขึ้น จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูก ห่างกันมากขึ้นไปอีก
แค่เพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่กล่าวไปข้างต้นนี้ อาจทำให้พฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่หากมีหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน โอกาสเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำคัญมากกว่าอย่างอื่น คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “การเลี้ยงดู” หากศึกษาลงลึกๆ ถึงประวัติแล้ว จะพบว่าคนที่มีพฤติกรรมไปในทางก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงเป็นประจำ มักเป็นผลพวงมาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ที่ทำให้ขาดความมั่นคงทางจิตใจ เกิดความเครียดหรือรู้สึกโกรธได้ง่าย มีความบกพร่องในการควบคุมอารมณ์ตนเองให้สงบลง ขาดความยับยั้งชั่งใจ และไม่สามารถประคับประคองตัวเองให้ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบอารมณ์ และความรู้สึกได้อย่างเหมาะสม หรือที่เรียกว่ามี EQ ต่ำ ทั้งหมดเหล่านี้เกี่ยวโยงมาจากการเลี้ยงดูตั้งแต่ “วัยเด็ก”
ดังนั้น การจะสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากคนที่มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและการใช้ความรุนแรงต่อกันในวันนี้ จึงจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ “ครอบครัว”
5 วิธีปรับ พฤติกรรมรุนแรงในเด็ก ที่ครอบครัวต้องทำ!!
1. เริ่มจากพ่อแม่ ต้องสร้างให้ลูกมีความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงต่อพ่อแม่ ด้วยการให้เวลาอยู่กับลูกอย่างใกล้ชิดมากที่สุดที่จะทำได้ พูดคุย เล่น กอด สัมผัส กับลูก ในบรรยากาศที่สงบสุขและปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีแรกของชีวิต พ่อแม่ต้องมีจิตใจที่พร้อมเสมอสำหรับลูก ใส่ใจและให้ความสนใจในสิ่งที่ลูกทำ เข้าใจและยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น พร้อมจะอยู่เคียงข้างเพื่อให้ความอบอุ่นใจตลอดเวลา เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่มีคุณค่า เชื่อมั่นและไว้วางใจต่อพ่อแม่ และมองโลกในทางบวก ประสบการณ์ดังกล่าวจะสร้างรากฐานทางจิตใจที่มั่นคงต่อไปตลอดชีวิต
2. การเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย ทำให้เด็กขาดความมั่นคงทางจิตใจ เวลามีเรื่องทุกข์ใจเล็กน้อย ก็จะรู้สึกเครียดมาก จนไม่สามารถควบคุมหรือสงบอารมณ์ตนเองได้ การเลี้ยงดูแบบควบคุมอย่างเข้มงวดมากเกินไป มักทำให้เด็กต่อต้าน โดยเฉพาะหากมีการใช้ความรุนแรงลงโทษด้วย ก็ยิ่งทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงได้ง่าย
ส่วนการเลี้ยงดูแบบตามใจมากจนเกินไปก็จะมีผลเสีย คือทำให้เด็กเป็นคนเอาแต่ใจ ขาดการควบคุมตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการต่าง ๆ หรือเรื่องการควบคุมอารมณ์ ทำให้เป็นคนที่ก้าวร้าวรุนแรงได้เช่นเดียวกัน การเลี้ยงดูที่เหมาะสมคือ พ่อแม่ต้องให้เวลาสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและมั่นคง ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เล่นสนุกด้วยกัน เมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ได้แก่ ทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายตัวเอง หรือทำข้าวของเสียหาย พ่อแม่ต้องตักเตือนและห้ามปรามอย่างหนักแน่นจริงจัง แนะนำด้วยเหตุผล แต่ไม่ใช้ความรุนแรง
3. พ่อแม่ต้องช่วยกันสร้างความสงบสุขในครอบครัว สภาพครอบครัวที่แตกแยกไม่เข้าใจกัน มีปากเสียงพูดจาไม่ดีใส่กัน หรือใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกัน จะสร้างความเครียดและวิตกกังวล จนทำให้ลูกมีจิตใจที่ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ และลูกจะเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและรุนแรงจากพ่อแม่นั่นเอง
4. พ่อแม่ต้องคอยติดตามสภาพแวดล้อมรอบตัวลูก ที่อาจจะมีผลต่อพฤติกรรม คอยพูดคุยกับลูกเรื่องเพื่อน ทั้งเรื่องดี เช่นการเล่นสนุกกับเพื่อน และเรื่องกลั่นแกล้งรังแกกัน หรือการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน ลูกได้พบเห็นความรุนแรงในโรงเรียนหรือสังคมอย่างไรบ้างหรือไม่ การพูดคุยถึงข่าวสาร หรือการเข้าถึงข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ที่ลูกติดตามหรือให้ความสนใจ เด็กในยุคดิจิทัลสามารถเข้าถึงความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้ง่ายมาก รวมทั้งการเล่นเกมที่มีความรุนแรงด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กชินชากับความรุนแรง เด็กจะซึมซับและบ่มเพาะพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรงได้โดยง่าย พ่อแม่จึงจำเป็นต้องคอยสอดส่องดูแล และให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับลูก
5. หมั่นสังเกตพฤติกรรม-อารมณ์ของลูก หากลูกเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เอาแต่ใจตนเอง หรือมีความเครียด อารมณ์เสียหงุดหงิดง่ายอยู่บ่อยๆ และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ พ่อแม่ลองทบทวนและปรับวิธีการเลี้ยงลูก ตามคำแนะนำข้างต้นดูก่อน หากยังไม่ดีขึ้นหรือมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น พ่อแม่สมควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่ปัญหาต่างๆ จะบานปลายมากขึ้น
กล่าวได้ว่า…พฤติกรรมรุนแรงในเด็ก นั้น คุณพ่อคุณแม่ในยุคนี้ จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูแลเอาใจใส่ และเลือกใช้วิธีการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการป้องกัน ยับยั้ง หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก ไม่ให้ติดตัวไปจนโต การให้ความสำคัญกับรากฐานครอบครัวที่ดี จะเป็นสิ่งที่ทำให้มั่นใจได้ว่าเด็กๆ ในวันนี้จะเป็นอนาคตที่ดีให้กับสังคม
วิธีรับมือเด็ก หากพฤติกรรมรุนแรงเกินต้าน
เมื่อไหร่ที่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลคนอื่น เช่น “ครู” รู้สึกว่าเด็กมีพฤติกรรมแปลกไป ควรจะพาไปประเมินอย่างละเอียดโดยจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ซึ่งการเข้ารับการรักษาเร็ว สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดความรุนแรงได้มาก
โดยเป้าหมายของการรักษา คือช่วยให้เด็กเรียนรู้การควบคุมความโกรธ การแสดงออกความไม่พอใจได้อย่างเหมาะสม ให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และยอมรับผลของการกระทำนั้น เช่น กำหนดข้อตกลงบทลงโทษของการทำผิด และคุยต่อว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อไปอย่างไร หากอยู่ในสังคมทั้งที่ใกล้ตัวและสังคมที่ใหญ่ขึ้นไป นอกจากนี้ เรื่องปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาที่โรงเรียน ปัญหาของสังคมรอบข้างก็ควรได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม.