คนวงการการเมือง พร้อมตัวแทนครอบครัวผู้เสียชีวิต นักวิชาการ และนักศึกษาร่วมพิธีรำลึก 6 ตุลาคม 2519 คึกคัก…
วันที่ 6 ต.ค. 2564 ที่ลานประติมากรรมประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมด้วยตัวแทนครอบครัวและอดีตนักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ ร่วมทำบุญเพื่อรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 2519 โดยกิจกรรมแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงบ่ายจะเริ่มในเวลาประมาณ 16 นาฬิกา มีตัวแทนของกลุ่มนักศึกษา และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมทั้งกลุ่มนักศึกษา และนักวิชาการที่เคลื่อนไหวในฐานะแนวร่วมราษฎร หลายคนร่วมการปราศัยในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา
ส่วนกิจกรรมในช่วงเช้า มีพิธีสงฆ์ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 9 รูป โดยตัวแทนคณะกรรมการจัดงาน 45 ปี 6 ตุลา กล่าวเปิดงานเชิญชวนให้ผู้ร่วมงานยืนไว้อาลัย กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ พร้อมทั้งมีผู้แทนจากองค์กรต่างๆ ร่วมพิธีวางพวงมาลาและดอกไม้ ที่ลานประติมากรรม 6 ตุลาคม 2519 โดยมีนางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้
จากนั้นนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวปาฐกถาพิเศษในฐานะอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีใจความสำคัญ ระบุว่า เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถือเป็นเหตุการณ์ที่นิสิตนักศึกษา ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม จากคณะนายทหารในขณะนั้น โดยขณะนั้นไม่พบว่ามีการดำเนินคดีกับคณะผู้นำนายทหาร รวมถึงเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงกับการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มักจะไม่ถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์การเมืองมากนัก
และที่สำคัญในเวลาต่อมา พบว่า มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้กับผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาในอดีตอีกด้วย ดังนั้นในวันนี้จึงเป็นอีกปีหนึ่ง ที่เรามาเรียกร้องความยุติธรรม เพื่อให้มีการสอบสวนและดำเนินคดีกับบุคคลที่ร่วมกระทำกับนักศึกษาในอดีต โดยอาจจะใช้ช่องทางการดำเนินคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกันวันนี้ บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลายคนเข้าร่วมกิจกรรม เช่น นายสุธรรม แสงประทุม อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย /นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า /นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวพรรคพรรคก้าวไกล และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
โดยนายธนาธร แสดงความรู้สึกว่า การรำลึกอดีตในวันนี้ เพื่อ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า เราต้องการอนาคตแบบใด โดยให้เหตุการณ์ในอดีตเป็นบทเรียนสำคัญที่จะอยู่ร่วมกัน และสร้างการยอมรับความแตกต่างที่อยู่ร่วมกันในสังคม.