‘เกาะตะรุเตา’ เกาะสวรรค์อีกหนึ่งแห่งของประเทศไทย ใครไม่เคยไป ยกมือขึ้น!! TOPPIC Time ก็เช่นกัน แต่ก่อนไป อยากชวนทุกคนไปทำความรู้จัก อุทยานแห่งชาติตะรุเตา พร้อมๆ กัน หลังจากเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศปิด ‘เกาะตะรุเตา’ 4 เดือน
เหตุผลประกาศปิดท่องเที่ยว พักแรม ‘เกาะตะรุเตา’ 4 เดือน
อุทยานแห่งชาติตะรุเตา หรือ เกาะตะรุเตา ลงประกาศเมื่อ 9 พฤษภาคม 2567 ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ปิดการท่องเที่ยวและพักแรมในอุทยานแห่งชาติ และวนอุทยานประจำปี 2567 เพื่อให้การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสภาพอากาศในแต่ละฤดู และความสามารถในการรองรับของทรัพยากร เปิดโอกาสให้ทรัพยากรธรรมชาติได้ฟื้นตัว รวมทั้งมีความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
เปิดไทม์ไลน์ ปิดการท่องเที่ยวและพักแรม เกาะตะรุเตา
– ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึง 30 กันยายน 2567 ปิดบ้านพัก และลานกางเต็นท์ ZONE 1 อ่าวพันเตมะละกา เกาะตะรุเตา ZONE 2 อ่าวเมาะและ เกาะตะรุเตา ZONE 3 แหลมสน เกาะอาดัง
– ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน ถึง 31 กรกฎาคม 2567 ปิดบริเวณเกาะเหล็ก เกาะบิสสี เกาะตาลัง เกาะอาดังทิศเหนือ และเกาะอาดังทิศตะวันออก
– ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึง 30 กันยายน 2567 ประกอบด้วย เกาะยาง ร่องน้ำจาบัง เกาะราวี เกาะดง เกาะหินซ้อน เกาะรอ-กลอย เกาะอาดังทิศตะวันตก เกาะซาวัง และเกาะไผ่
รู้ลึก ‘เกาะตะรุเตา’ เกาะสวรรค์อันดามัน
เกาะตะรุเตา เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ตะโละเตรา” ในภาษามลายู แปลว่า มีอ่าวมาก เกาะตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในทะเลอันดามัน บริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ด้านใต้ของเขตอุทยานแห่งชาติ ห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซีย เพียง 4.8 กิโลเมตร
เกาะตะรุเตาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากเป็นจุดรวมของความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อย 51 เกาะ มีเกาะที่มีขนาดใหญ่ 7 เกาะด้วยกัน คือ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี แบ่งออกเป็นหมู่เกาะใหญ่ๆ ได้ 2 หมู่เกาะ คือ หมู่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี
เรื่องเล่า ‘เกาะตะรุเตา’
เกาะตะรุเตา เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของอุทยานฯ มีพื้นที่ 152 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่มีสภาพเป็นป่าดิบชื้น มีพรรณไม้และสัตว์ป่าที่น่าสนใจ ส่วนหนึ่งเป็นป่าชายเลน มีอ่าวน้อยใหญ่ที่มีชายหาดสวยงามอยู่หลายแห่ง ในท้องทะเลของเกาะตะรุเตายังมีพันธุ์ปลามากมายหลายชนิด รวมทั้งเต่าทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์
เกาะตะรุเตา มีประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ ในปี 2479 รัฐบาลมีนโยบายให้กรมราชทัณฑ์จัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งนิคมฝึกอาชีพและเป็นสถานที่กักกันนักโทษ เกาะตะรุเตา อยู่ห่างไกลจากฝั่ง ยากต่อการหลบหนีของนักโทษ จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมจัดสร้างเรือนจำ
– ปี 2481 นักโทษชุดแรกจำนวน 500 คน ได้เดินทางมายังเกาะตะรุเตา และมีนักโทษเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 3,000 คน
– ปี 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบต่อนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค นักโทษเจ็บป่วยล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ผู้คุมและนักโทษจำนวนหนึ่งจึงออกปล้นสะดมเรือสินค้าที่ผ่านไปมาในน่านน้ำบริเวณช่องแคบมะละกา จนทำให้เรือสินค้าไม่กล้าล่องเรือผ่านมาในบริเวณนั้น
– ปี 2489 รัฐบาลไทยและทหารอังกฤษได้เข้าปราบโจรสลัดเกาะตะรุเตาจนสำเร็จ และประกาศยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา หลังจากนั้นเกาะตะรุเตาก็ถูกทิ้งร้างเป็นเวลา 26 ปี
– จนกระทั่งวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2517 กรมป่าไม้ ได้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
– ปี 2525 อุทยานแห่งชาติตะรุเตาได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ให้เป็น มรดกแห่งอาเชียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves)
พิกัดชมความงามบนเกาะตะรุเตา-การเดินทาง
- อ่าวพันเตมะละกา เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ เกาะตะรุเตา และยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม
- จุดชมวิวผาโต๊ะบู อ่าวจากอ่าวเมาะ อ่าวสน อ่าวตะโละวาว อ่าวตะโละอุดัง น้ำตกลูดู และถ้ำจระเข้
สำหรับการเดินทางไปยังเกาะตะรุเตา สามารถเหมาเรือจากท่าเรือปากบารา หรือซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับได้จากบริษัทนำเที่ยวในสตูล และบริเวณท่าเรือปากบารา หากเป็นเรือสปีดโบตใช้เวลานั่งเรือประมาณ 30 นาที บนเกาะมีบ้านพัก จุดกางเต็นท์ และร้านค้า
อย่างไรก็ตาม สามารถโทรไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 074-783-485 ได้เลยจ้า.
ภาพ-ข้อมูล : อุทยานแห่งชาติตะรุเตา / ททท.