เวลคัม ทู ไทยแลนด์!! โบราณวัตถุ 2 รายการ ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ Golden Boy และ ประติมากรรมสตรีพนมมือ ที่สะท้อนประวัติศาสตร์งานศิลปะที่งดงาม และล้ำค่า หลังถูกลักลอบซื้อขายตั้งแต่ปี 2518 ข้ามขอบโลกไปไกลถึงอเมริกา ที่ถูกส่งกลับสู่อ้อมอกแผ่นดินไทยพรุ่งนี้ (20 พ.ค.2567) วธ.เตรียมจัดต้อนรับยิ่งใหญ่ 21 พ.ค.นี้…
แม้จะยังดราม่ากันไม่จบ กรณีการขุดพบพระพุทธรูปบริเวณริมแม่น้ำโขง แต่โบราณวัตถุนี้ ไม่ต้องดราม่า เพราะกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ยืนยันและขอให้ร่วมกันต้อนรับการส่งคืนโบราณวัตถุ ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ Golden Boy และ ประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 และถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้
TOPPIC Time มีที่มาและที่ไปของโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการมาฝาก เพื่อเป็นเกร็ดความรู้และสะท้อนความเจริญของประวัติศาสตร์ไทย ที่ยิ่งใหญ่และงดงามด้วยศิลปกรรมอันล้ำค่าที่อยู่คู่กับแผ่นดินไทย โดยเฉพาะโบราณวัตถุ
ไทม์ไลน์ที่มา ที่ไป 2 โบราณวัตถุไทยโผล่อเมริกา
– วันที่ 12 ธันวาคม 2566 พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าพบอธิบดีกรมศิลปากร ส่งมอบหนังสือแจ้งขอส่งคืนโบราณวัตถุจำนวน 2 รายการให้ไทย
– หลังพิพิธภัณฑ์ฯ ตรวจสอบรายการโบราณวัตถุที่มีประวัติการได้มาเกี่ยวข้องกับนายหน้าค้าโบราณวัตถุ ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้แจ้งดำเนินคดีค้าโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมาย เมื่อปี พ.ศ. 2562 แล้วพบว่ามีโบราณวัตถุประติมากรรมสำริดจากประเทศไทย ประติมากรรมพระศิวะสำริด ที่รู้จักในชื่อ Golden Boy (มีหลักฐานการลักลอบซื้อขายออกไปโดยผิดกฎหมายเมื่อปี 2518)
– ยังพบโบราณวัตถุที่มีที่มาเกี่ยวพันกับผู้ต้องหา ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กแจ้งดำเนินคดีค้าโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมายเช่นกัน เมื่อปี พ.ศ. 2564 เป็นโบราณวัตถุประติมากรรมสตรีจำนวน 1 รายการ
– พิพิธภัณฑ์ฯ จึงมีมติถอดโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการออกจากบัญชีทะเบียนโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ ประสานส่งคืน
เปิดประวัติ 2 โบราณวัตถุกลับคืนประเทศไทย
ประติมากรรมพระศิวะ
- รูปแบบคล้ายประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะหรือทวารบาล อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือ ประมาณ 900-1,000 ปีมาแล้ว เป็นรูปพระศิวะสวมเครื่องทรงแบบบุคคลชั้นสูง ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ซึ่งพบไม่มากนัก ประติมากรรมนี้สูงถึง 129 เซนติเมตร มีเทคนิคการสร้างแบบพิเศษคือ หล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทอง
- เป็นโบราณวัตถุที่มีความสำคัญและมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบขุดค้นจากโบราณสถานปราสาทบ้านยาง หรือปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
ประติมากรรมสตรี
- อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เช่นกัน สูง 43 เซนติเมตร อยู่ในท่านั่งชันเข่าและยกมือไหว้เหนือศีรษะ แต่งกายแบบบุคคลชั้นสูง หล่อด้วยสำริดมีร่องรอยการประดับด้วยโลหะเงินและทอง
- สตรีนั่งชันเข่าพนมมือ สันนิษฐานว่าเป็นสตรีชั้นสูงในราชสำนัก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปีมาแล้ว
- สูง 43 ซม. หล่อด้วยสำริด ประติมากรรมทั้งสองชิ้นนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่า บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตงานศิลปกรรมสำริดที่มีคุณค่ายิ่ง
ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กระทรวงวัฒนธรรม / กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์