รัฐงัดมาตรการ “ลดภาษี” หวังกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง รับโลซีซั่น 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 67 ได้ส่วนลดภาษีทั้งบุคคลธรรม ไม่เกิน 15,000 บาท และนิติบุคคล ตั้งแต่ 1.5 – 2 เท่าตามที่จ่ายจริง ในรูปแบบท่องเที่ยวทั่วไป จัดอบรม-สัมมนา
ภาครัฐกระตุ้นการท่องเที่ยวฉ่ำๆ เมื่อรายได้หลักของประเทศยังมาจากภาคบริการ และการท่องเที่ยว ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ดึงรายได้เข้าประเทศ จะเรียกว่าขายของเก่ากินก็ไม่ผิด เนื่องจากเป็นต้นทุนและจุดแข็งของประเทศ ล่าสุด มติ ครม. 4 มิ.ย. 2567 เห็นชอบมาตรการลดภาษี (ลดหย่อนภาษี) สำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศ รับช่วงโลซีซั่น เริ่ม 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 2567
เปิดมาตรการลดภาษีหนุนการท่องเที่ยวในประเทศ
1. มาตรการลดภาษีหนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ที่จ่ายไป ตั้งแต่ 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 67
– หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล (ลดภาษี) ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร เว้นค่าขนส่งจะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ซึ่งจะต้องได้รับใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่
- สามารถ (ลดภาษี) หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใด ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่น (นอกเหนือที่กำหนด) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขลดภาษี ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2. มาตรการลดภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา)
ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 67 เป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season)
- จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่าจากมาตรการลดภาษีให้นิติบุคคล จากการอบรม-สัมมนา ทำให้รัฐ สูญรายได้ 1.2 พันล้านบาท ส่วนกรณีการท่องเที่ยวรายบุคคล รัฐสูญรายได้ 5.1 ร้อยล้านบาท
เปิดลิสต์เมืองรองที่ต้องเที่ยว ‘ลดภาษี’
สำหรับ “เมืองรอง” (55 จังหวัด) ในนิยามคือ เป็นจังหวัดที่ไม่อยู่ในลิสต์เมืองหลัก อาทิ เชียงราย พิษณุโลก ราชบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ตรัง พัทลุง นครนายก สระแก้ว ฯลฯ แต่หลายพื้นที่ก็มีความน่าสนใจ และน่าเที่ยวไม่แพ้กัน…ที่สำคัญคือ ได้ลดภาษีอีกด้วย