‘อินฟลูเอนเซอร์’ ต้องรู้ อยากปังๆ โดยต้องไม่พังในวันหน้า “ละเมิดลิขสิทธิ์” กม.ที่เข้มข้นเพื่อรักษาสิทธิเจ้าของลิขสิทธิ์เดิม ป้องกันชุบมือเปิบ โดยเฉพาะนำเพลงมา Cover เข้าข่ายการละเมิดทุกกรณี แล้วต้องทำยังไง? เพื่อให้สามารถร้องเพลง Cover ได้อย่างเต็มเสียง ตรงนี้มีคำตอบ…
อีกอาชีพสุดฮิต รายได้ปัง!! ในเวลานี้ โดนใจคนรุ่นใหม่ ‘ดัง รวยเร็ว’ คงต้องยกให้งาน“อินฟลูเอนเซอร์” หรือ ดาวโซเชียลบนโลกสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นป้ายแดง-ป้ายดำ ขอให้มีความคิดสร้างสรรค์ หรือคอนเทนต์โดน ๆ ดังได้เพียงข้ามคืน แต่ก็ดับได้ในข้ามคืนเช่นกัน จึงต้องระมัดระวังหากพลาดพลั้งอาจถึงขั้นเสียเงินเสียทอง (ละเมิดลิขสิทธิ์) หรือหากร้ายแรงอาจถึงขั้นติดคุกได้ TOPPIC Time จึงขอหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุย เพราะเหตุ ละเมิดลิขสิทธิ์ ยังเป็นประเด็นที่ร้อนแรงในขณะนี้ โดยเฉพาะการนำเพลงมา Cover จนเกิดละเมิดลิขสิทธิ์!!
นำเพลงมาร้อง Cover ได้หรือไม่ แบบไม่ละเมิดลิขสิทธิ์?
เพจของกรมทรัพย์สินทางปัญหาได้บางเล่าเรื่องนี้ไว้แบบคร่าวๆ ระบุว่า ผลงานเพลงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ความคุ้มครองแก่ผู้สร้างสรรค์ทันที และเจ้าของผลงานมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะทำการใดๆ ต่องานนั้น
ร้องเพลง cover ยังไงไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์!
- เลือกเพลงจากค่ายเพลงที่อนุญาตให้นำเพลงมา Cover
- ทำหนังสือขออนุญาตนำเพลงมาร้อง Cover หรือคอมเมนต์ใต้คลิป รอให้เจ้าของลิขสิทธิ์มาอนุญาตแล้ว capture ไว้เป็นหลักฐาน
- ซื้อลิขสิทธิ์เพลงนั้นมา Cover
ไขข้อข้องใจคุ้มครองลิขสิทธิ์ ป้องกันละเมิดลิขสิทธิ์
– การคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ งาน “เพลง” เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานดนตรีกรรม
– กรณีที่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง คือ การกระทำใดๆ ที่กระทบต่อสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงโดยไม่ได้รับอนุญาต
– บทกำหนดโทษกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง
: การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงที่เป็นการกระทำเพื่อการค้ามีโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา โดยลงโทษทางอาญามีจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 – 800,000 บาท ทั้งนี้ เจ้าของลิขสิทธิ์อาจเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมจากค่าปรับที่ศาลสั่งปรับในคดีอาญาได้อีก (โทษทางแพ่ง)
กม.ยกเว้นบางกรณีไม่ถือละเมิดลิขสิทธิ์ ในงานเพลง
– หากเป็นการกระทำที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ตามปกติของเจ้าของสิทธิ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร
– ไม่มีการนำไปขายหรือหาผลประโยชน์จากงาน cover ดังกล่าว
นักกฎหมายแนะนำว่า “การ cover เพลง” นั้น เข้าข่ายเป็นการดัดแปลงเพลงของผู้ร้องเดิม (โดยเฉพาะมีการใช้สื่อโซเชียลอย่างแพร่หลาย จนยากต่อการควบคุม) หากไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมอื่นๆ แล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรม ทางที่ดีที่สุดควรหลีกเลี่ยง หรือสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาเอง …แม้วันนี้จะยังไม่ผิด แต่ในวันที่ยอดวิวปังๆๆ ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่เจ้าของลิขสิทธิ์เดิมจะเรียกร้องได้!!.