ปภ.รายงานสถานการณ์ 10 จังหวัดน้ำยังท่วมจากฤทธิ์ พายุ “ไลออนร็อก-เตี้ยนหมู่” เสียชีวิตรวม 14 ราย ได้รับผลกระทบ 86,681 ครัวเรือน ขณะที่ ตราด-จันทบุรี-เพชรบูรณ์ ยังน้ำท่วม…
วันที่ 15 ต.ค.2564 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุ “ไลออนร็อก” ซึ่งได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความอากาศต่ำ เคลื่อนตัวเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.-ปัจจุบัน
ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง เลย เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร และระนอง รวม 20 อำเภอ 90 ตำบล 416 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล
ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,931 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 6 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 3 จังหวัด 8 อำเภอ 23 ตำบล 127 หมู่บ้าน 5,534 ครัวเรือน ดังนี้
เพชรบูรณ์ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อ.วังโป่ง ระดับน้ำลดลง
จันทบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เขาคิชฌกูฎ อ.มะขาม อ.ขลุง อ.เมืองจันทบุรี และ อ.แหลมสิงห์ ระดับน้ำลดลง
ตราด ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เขาสมิง และอ.เมืองตราด ระดับน้ำลดลง
ในส่วนของผลกระทบจากพายุ “เตี้ยนหมู่” ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.-7 ต.ค. ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และ นครปฐม รวม 225 อำเภอ 1,201 ตำบล 8,214 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 333,257 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 14 ราย (ลพบุรี 11 ราย เพชรบูรณ์ 2 ราย ชัยนาท 1 ราย)
ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 23 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 10 จังหวัด รวม 45 อำเภอ 308 ตำบล 1,683 หมู่บ้าน 86,681 ครัวเรือน ดังนี้
ขอนแก่น มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.แวงน้อย อ.แวงใหญ่ อ.โคกโพธิ์ชัย อ.ชนบท อ.มัญจาคีรี อ.พระยืน อ.บ้านแฮด อ.บ้านไผ่ และอ.เมืองขอนแก่น ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำลดลง
มหาสารคาม มวลน้ำจากจ.ขอนแก่นไหลเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.โกสุมพิสัย อ.กันทรวิชัย และอ.เมืองมหาสารคาม ระดับน้ำทรงตัว
นครราชสีมา น้ำท่วมขังในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.โนนสูง อ.พิมาย อ.คง อ.ประทาย อ.ชุมพวง และอ.เมืองยาง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร ยังคงมีบางส่วนเป็นบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำลดลง
นครสวรรค์ น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครสวรรค์ อ.พยุหะคีรี และอ.โกรกพระ ระดับน้ำลดลง
ลพบุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองลพบุรี และอ.บ้านหมี่ ระดับน้ำลดลง
สุพรรณบุรี ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.บางปลาม้า และอ.สองพี่น้อง ได้ระบายน้ำจากประตูน้ำสําเภาทองลงสู่แม่น้ำท่าจีน ระดับน้ำลดลง
สิงห์บุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.อินทร์บุรี อ.เมืองสิงห์บุรี และ อ.พรหมบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ประมาณ 15-25 ซม. บางพื้นที่ประชาชนเริ่มกลับเข้าทำความสะอาดที่พักแล้ว
อ่างทอง ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอ่างทอง อ.ไชโย อ.ป่าโมก อ.วิเศษชัยชาญ และอ.สามโก้ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผง ระดับน้ำลดลง
พระนครศรีอยุธยา น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางไทร อ.บางปะอิน อ.มหาราช อ.นครหลวง อ.บางปะหัน และอ.บางซ้าย ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล ซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ ระดับน้ำลดลง
ปทุมธานี น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ริมน้ำ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองปทุมธานี และอ.สามโคก ระดับน้ำลดลง
ภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายในหลายพื้นที่ แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สำหรับประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784.