ตรวจบริษัทให้คำปรึกษาการเงินดิจิทัลย่านนาคนิวาส พบไม่มีใบอนุญาต พร้อมเตือนนักลงทุนใช้สติ ตรวจสอบที่มาข้อมูลให้ชัด หวั่นตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหัวใสใช้เป็นช่องกระทำผิด…
พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. เข้าตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่ง ในซอยนาคนิวาส 12 ถนนนาคนิวาส แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยมีนายนิติรุจน์ (สงวนนามสกุล) เป็นเจ้าของ เบื้องต้นพบว่าบริษัทดังกล่าว มีการจดทะเบียนประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล อาทิ คริปโตเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัลและการลงทุนสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ ถูกต้อง แต่ไม่ได้มีการขออนุญาตจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในเรื่องของการให้คำปรึกษา จึงได้ทำการคุมตัวนายนิติรุจน์ ไปทำการสอบสวน
โดยการเข้าตรวจสอบบริษัทดังกล่าว สืบเนื่องจากในปัจจุบัน มีผู้ลงทุนได้ให้ความสนใจในด้านการลงทุนเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล ประเภทต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงให้แก่ผู้ลงทุน เกิดเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ที่สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในปัจจุบัน
ซึ่งบริษัทดังกล่าว มีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเฟชบุ๊กว่า ให้คำปรึกษาการลงทุน โดยอ้างว่าได้รับสัญญานจากนักลงทุนระดับโลก ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าบริการจากสมาชิกเป็นรายเดือนจากการผู้ที่สนใจ โดยใช้แอปพลิเคชั่น Telegram เป็นช่องทางส่งสัญญานเข่าซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนถูกต้อง แต่ไม่ได้รับอนุญาติทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในเรื่องของการให้คำปรึกษา
ทั้งนี้ จากการสอบปากคำ นายนิติรุจน์ ให้การถึงแหล่งที่มาของข้อมูล ที่ใช้ในการให้สัญญาณซื้อขาย อ้างว่ามีแหล่งที่มาจากการวิเคราะห์กราฟแนวโน้มการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จากประสบการณ์ของผู้ดูแลกลุ่ม (Admin) และมาจากแหล่งข้อมูลในเว็บไซต์ต่างประเทศ แต่ปัจจุบันทางบริษัทยังไม่ได้รับอนุญาต และไม่ได้อยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต่อ ก.ล.ต. แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน ที่สนใจในเรื่องการลงทุนสกุลเงินดิจิทัลว่า ควรตรวจสอบบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ และได้รับการอนุญาตจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้งฝากถึงผู้ประกอบการหรือบริษัทที่ให้คำปรึกษา ต้องยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต่อ ก.ล.ต. ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน อีกทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้กลุ่มมิจฉาชีพ ได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงให้แก่ผู้ลงทุนสร้างความเสียหาย
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอลโดยไม่ได้รับอนุญาติ ซึ่งเป็นความผิดตาม พรก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอล ปี 2561 นำส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอศ.ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป.