สมมติฐานที่ว่า ‘สภาวะเศรษฐกิจแย่ ส่งผลให้คนขอทานเพิ่ม’ มีทั้งถูก-ผิดในสภาพความเป็นจริง จากข้อมูล 10 ปีที่ผ่านมาตัวเลขคนขอทานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เปรียบเทียบต่อปี 2566/2567 สูงขึ้นกว่า 20.47 % แม้เป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย ‘แต่โนสน โนแคร์’ ในภาวะที่ต้องอยู่ให้รอด..!!
เศรษฐกิจที่ย่ำแย่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบทางสังคม และทำให้คนขอทานเพิ่มจริงหรือไม่?!! เมื่อสังคมโลกยังใช้วัตถุเป็นตัวตั้งกำหนดสถานะทางสังคม จัดเป็นปัญหาสังคมที่แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคน โอกาส และการเข้าถึงบริการทรัพยากรพื้นฐาน TOPPIC Time หยิบยกประเด็นคนขอทานมาพูดคุย เพื่อสะท้อนโจทย์ด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน กับภาวะเศรษฐกิจ-สังคมที่คนต้องเอาตัวรอดทุกรูปแบบ แม้จะผิดกฎหมายก็จะทำ…ดีกว่าอดตาย!!
ภาพสะท้อน 10 ปีตัวเลขคนขอทานพุ่ง
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานสถานการณ์ปัญหาคนขอทานในประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขทางการ ที่น้อยกว่าความเป็นจริงมาก!!
- พบคนขอทานทั้งสิ้น 7,635 ราย
- เป็นคนขอทานไทย ร้อยละ 65
- คนขอทานเป็นต่างด้าวร้อยละ 35 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
- ปี 2567คนขอทานทั้งสิ้น 506 ราย คนขอทานคนไทย 331 ราย และคนขอทานต่างด้าว 175 ราย
- เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 20.47 จำนวนนี้เป็นคนขอทานซ้ำ 78 ราย (ร้อยละ 24.28)
สาเหตุทำให้คนขอทานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
จากข้อมูลยังพบว่า มีทั้งคนขอทานชั่วคราว คนขอทานอาชีพ และคนขอทานโดยถูกบังคับ ด้วยสาเหตุที่เกิดจาก
- ข้อจำกัดด้านร่างกาย จิตใจ เกิดจากความพิการทางร่างกายหรือความบกพร่องทางสติปัญญา
- คนขอทานขาดโอกาสในการศึกษาที่จะไปประกอบอาชีพที่มั่นคง
- ค่านิยมของชุมชนและแรงจูงใจว่าทำรายได้ดีโดยไม่ต้องลงทุน
- อิทธิพลความเชื่อว่าการให้เงินขอทานเป็นการทำบุญ
ย่านทำเลทองของ ‘คนขอทาน’
พื้นที่หรือทำเลทองที่ทำเงินให้กับ คนขอทาน ต้องเป็นสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน โดยเฉพาะในตัวเมืองใหญ่ๆ ย่านเศรษฐกิจ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะหน้าห้างสรรพสินค้า สถานีรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ และตลาดนัด รวมถึงชุมชนบางแห่ง และยังมีการกระจายตัวไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น
– ภาคเหนือที่ เชียงใหม่ เชียงราย
– ภาคอีสาน อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา
– ภาคตะวันออก ตลาดโรงเกลือ สระแก้ว, เมืองพัทยา ชลบุรี อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ
– ภาคใต้ อ.หาดใหญ่ สงขลา และนครศรีธรรมราช
พม.ลุยจัดระเบียบคนขอทาน
- ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ควบคุม สถานการณ์ปัญหาคนขอทานให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
- ควบคุมทั้งระดับนโยบาย ผ่านกลไกการขับเคลื่อนต่าง ๆ ในระดับชาติ ระดับจังหวัด และมีชุดอนุกรรมการระดับกรุงเทพมหานคร ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะ
- พม. ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย จัดโครงการรณรงค์สังคม สร้างการรับรู้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขอทาน ภายใต้แนวคิด “ให้โอกาสเปลี่ยนชีวิต…หยุดคิดก่อนให้ทาน”
- สร้างความตระหนักต่อปัญหาคนขอทาน จุดประกายให้ประชาชนมีทัศนคติ “หยุดให้ทาน”
- เปลี่ยนเป็นให้โอกาสให้คนขอทานได้แสดงศักยภาพของตนเองให้สามารถประกอบอาชีพ ใช้ความรู้ ทักษะ ความสามารถ เป็นที่ยอมรับในสังคม
- จัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่จัดระเบียบคนขอทานพร้อมกันทั่วประเทศ
ปัจจัยส่งเสริมให้ยังมีคนขอทานอยู่ในสังคมไทย
- คนไทยเป็นคนจิตใจดี โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตา จึงเป็นที่มาของการส่งต่อความปรารถนาดี ผ่านรูปแบบการให้ จากความสงสาร เป็นเหตุให้คนกลุ่มหนึ่งฉวยโอกาส และเลือกที่จะทำการขอทาน เกิดเป็นอาชีพ
- บางส่วนเกิดกระบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ และความเชื่อมโยงกับการกระทำผิดกฎหมาย (กม.การค้ามนุษย์)
- เพื่อยุติปัญหาคนขอทาน เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันตระหนักว่า “หยุดให้ทาน เท่ากับ หยุดขอทาน”
- ให้ร่วมเป็นเบาะแส พบคนขอทาน โทรแจ้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) สายด่วน พม. โทร. 1300 ตลอด 24 ชม.
การขอทานผิดกฎหมาย ถูกจับ!
ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อพฤติการณ์การขอทาน
- ขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีพ
- ทำให้ผู้อื่นเกิดความสงสารเพื่อขอเงินหรือทรัพย์สิน
- แสดงให้ผู้อื่นเห็นถึงความพิการเจ็บป่วย
- แสร้งทำเป็นคนพิการเจ็บป่วย
- การใช้สัตว์ไม่ว่าปกติ พิการหรือเจ็บป่วย มาเป็นเครื่องมือ
ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามคนขอทาน มาตั้งแต่ปี 2484 (พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน) สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี หรือกว่า 80 ปีที่ผ่านมาแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของปัญหาสังคมทุกประเทศ แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังหนีไม่พ้นคนขอทาน!!