ครองแชมป์ 2 ปีซ้อน “ขนมเหนียวสูตรโบราณ” จากชุมชนแป้นทองสัมพันธ์ คลองสามวา 1 จังหวัด 1 เมนูอาหารประจำ กทม. กับรสชาติ … ที่หายไป ปีที่ 2 The Lost Taste 2024 พร้อมเปิดให้ลิ้มลอง 9 กันยายนนี้ พลาดไม่ได้ ต้องไปพิสูจน์ว่า ความเด็ดดวงของรสชาติอยู่ที่ตรงไหน…!!
“ขนมเหนียวสูตรโบราณ” 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น กทม.
TOPPIC Time ขอร่วมแสดงความยินดีกับสำนักงานเขตคลองสามวา สภาวัฒนธรรมเขตคลองสามวา และชมรมไทยรามัญแป้นทอง กับ “ขนมเหนียวสูตรโบราณ” ที่ยังสามารถรักษาแชมป์ ความเป็นที่ 1 กับการคัดเลือก 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่นของกรุงเทพมหานคร รสชาติ … ที่หายไป ปีที่ 2 The Lost Taste 2024
- ขนมเหนียวสูตรโบราณ ชุมชนแป้นทองสัมพันธ์ ที่ได้รับการคัดเลือกอาหารถิ่นประจำจังหวัด (กรุงเทพฯ)
- ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste ปีที่ 2) ประจำปี 2567
ที่มา “ขนมเหนียวสูตรโบราณ”
ประวัติความเป็นมา “ขนมเหนียวสูตรโบราณ” ที่สะท้อนภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชาวมอญ ไม่ว่าจะเป็นการผสมสานระหว่างแป้งข้าวเหนียวและแป้งข้าวจ้าว มะพร้าว แสดงถึงประโยชน์จากพืชเกษตรหลักในท้องถิ่น เป็นการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาวมอญ ผ่านการถ่ายทอดสูตรและเทคนิคการทำจากรุ่นสู่รุ่น เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสานต่อไป
เปิดเคล็ดลับ “ขนมเหนียวสูตรโบราณ”
ขนมเหนียวสูตรโบราณ เป็นขนมที่ทำง่าย ใช้วัตถุดิบพื้นบ้านและมีขั้นตอนการทำที่ไม่ซับซ้อน รสชาติหวานละมุน กัดแล้วเหนียวหนึบในปาก
ส่วนผสม: “ขนมเหนียวสูตรโบราณ” (สูตรส่วนตัว..)
- แป้งข้าวเหนียว 500 กรัม
- น้ำกะทิ 500 มิลลิลิตร (ทำจากหัวกะทิ 250 มล. ผสมน้ำสะอาด 250 มล.)
- น้ำตาลปี๊บ 200 กรัม
- น้ำตาลทราย 100 กรัม
- เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
- มะพร้าวขูด (สำหรับโรยหน้า) 1 ถ้วย
- งาขาวคั่ว (สำหรับตกแต่ง) 2 ช้อนโต๊ะ
ขั้นตอนการทำ: “ขนมเหนียวสูตรโบราณ”
- ผสมแป้งข้าวเหนียวกับน้ำกะทิ
ในชามขนาดใหญ่ ใส่แป้งข้าวเหนียวลงไป จากนั้นค่อยๆ เติมน้ำกะทิลงไปทีละน้อย ใช้มือหรือตะกร้อมือคนจนแป้งข้นเนียนเข้ากันดี ไม่มีเม็ดแป้งเหลือ - ปรุงรสหวาน
ใส่น้ำตาลปี๊บและน้ำตาลทรายลงไปในแป้งที่ผสมไว้ ตามด้วยเกลือป่น คนให้น้ำตาลละลายและเข้ากันดี - นึ่งแป้ง
เตรียมซึ้งสำหรับนึ่ง ตั้งน้ำให้เดือด ใส่ส่วนผสมแป้งลงในภาชนะสำหรับนึ่ง (ถาดหรือถ้วย) นึ่งประมาณ 20-25 นาที หรือจนแป้งสุก เหนียว และมีสีใส - โรยมะพร้าวและงาคั่ว
หลังจากแป้งสุก ยกออกจากซึ้ง ปล่อยให้เย็นเล็กน้อย โรยมะพร้าวขูดและงาคั่วลงบนขนมเหนียว - เสิร์ฟ
ตัดขนมเหนียวเป็นชิ้นๆ จัดใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ ขนมเหนียวสูตรโบราณ จะมีความเหนียวหนึบ หวานหอมจากน้ำตาลปี๊บและน้ำกะทิ ส่วนมะพร้าวขูดกับงาคั่วเพิ่มสัมผัสกรุบกรอบและกลิ่นหอมอีกขั้น
เปิดให้ลองชิม “ขนมเหนียวสูตรโบราณ” และอาหารถิ่นที่หายไป
กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร คัดเลือกอาหารถิ่นประจำจังหวัด มีเมนูอาหารที่ให้ประชาชนร่วมโหวตทั่วประเทศ 563 รายการ แบ่งเป็นเมนูอาหารคาว 234 รายการ เมนูอาหารหวาน 184 รายการ เมนูอาหารว่าง 143 รายการ และเมนูอาหารอื่น 2 รายการ ซึ่งแต่ละเมนูมีความพิเศษและสะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของแต่ละจังหวัดอย่างชัดเจน
- 9 กันยายน 2567 เวลา 14.00 น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม แถลงการจัดงาน “ไทยฟุ้ง ปรุงไทย” (Thai Taste Thai Fest 2024) ในธีมงาน “เลิศล้ำภูมิปัญญา เลอค่ารสชาติไทย” งานแสดงและสาธิตสุดยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแห่งปี และภายในงาน ยังเปิดให้ลิ้มรสชาติ “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” (รสชาติที่หายไป …The Lost Taste) ประจำปี 2567 อาทิ แกงส้มใบสันดาน จังหวัดจันทบุรี, แกงอีเหี่ยว จังหวัดเพชรบูรณ์, ขนมพระพาย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, เกสรลำเจียก จังหวัดอ่างทอง และขนมเหนียวสูตรโบราณ กทม.
ขอบข้อมูล-ภาพ : กรุงเทพมหานคร