ย้อนความเชื่อสั่นประสาท พลิกตำนาน “ฮาโลวีน” วันดีๆ ที่มีผีเดินเพ่นพ่าน ที่เวียนกลับมาให้ทุกคนได้สัมผัสความตื่นเต้นระทึกขวัญกันอีกแล้ว สำหรับ เทศกาลวันฮาโลวีน วันปล่อยผีฟักทองสุดหลอน ตามความเชื่อของชาวตะวันตก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี
เทศกาลขนหัวตั้ง เทศกาลวันฮาโลวีน ที่ถือปฏิบัติกันมายาวนานมากๆ โดยเรามักจะเห็นผู้คนพากันครีเอทการแต่งกายในธีมภูติผีปิศาจ ซึ่งปัจจุบันไอเดียทะลุไกล เป็นการประโคมคอสเพลย์แฟนตาซีประชันกันสุดฤทธิ์ ออกมาร่วมงานปาร์ตี้ยามค่ำคืนกันอย่างสนุกสนาน
ย้อน 7 ประวัติ ‘ฮาโลวีน’ ตำนานความเชื่อ ‘ผีฟักทอง’ สั่นประสาท
1. ทำไม วันฮาโลวีน ต้องตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม?
สาเหตุที่วัน ฮาโลวีน ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปีนั้น มีความเชื่อกันว่า เป็นวันที่ชาวเคลต์ (Celt) ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในไอซ์แลนด์ ถือกันว่าเป็นวันสิ้นสุดปี เป็นวันที่มิติคนตายและมนุษย์ จะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และวิญญาณผู้เสียชีวิตในปีที่ผ่านมา จะเที่ยวหาร่างของคน เพื่อสิงสู่ โดยหวังที่จะได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง จึงทำให้คนเป็นๆ อย่างเรา จะต้องหาทางแก้ไข ด้วยการปิดไฟในบ้านทุกดวงให้มืดมิด ร่วมกับอากาศที่เหน็บหนาว ซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของบรรดาผีร้าย อีกทั้งยังมีบางส่วน จะแต่งตัวเป็นผีต่างๆ เพื่อหลอกเหล่าวิญญาณเร่ร่อนว่า…นี่ไม่ใช่คนนะ “ฉันเป็นผี”
2. เทศกาลวัน ฮาโลวีน กลายเป็นเทศกาลประจำชาติของชาวอเมริกัน
แต่เดิม เทศกาลฮาโลวีน จะจัดขึ้นในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ และประเทศข้างเคียงเท่านั้น แต่เมื่อชาวไอริช และชาวสกอต อพยพไปตั้งหลักแหล่งในสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี ค.ศ. 1840 ต่างก็นำเอาประเพณีนี้ไปปฏิบัติด้วย ปรากฏว่า…ถูกใจชาวอเมริกันทุกเชื้อชาติ จึงปฏิบัติตามกันอย่างจริงจังตลอดมา และตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ก็กลายเป็นเทศกาลประจำชาติมาจนถึงทุกวันนี้
3. Trick of Treat ไปขอลูกกวาด
กิจกรรมใน วันฮาโลวีน ที่นิยมจัดกันในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป จะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กๆ ที่จะแต่งกายเป็นภูตผีปิศาจ ในรูปแบบต่างๆ และพากันออกไปร่วมงานฉลองวันฮาโลวีน โดยจะเรียกการเล่นนี้ว่า Trick of Treat (หลอกหรือเลี้ยง) ซึ่งเด็กๆ ที่แต่งตัวเป็นภูติผีปิศาจนั้นๆ จะเดินไปเคาะประตูตามบ้านต่างๆ เพื่อขอขนม ที่นิยมจะเป็นลูกกวาด
4. ถ้าทำสิ่งนี้ได้วันฮาโลวีน จะโชคดีตลอดปี
และอีกหนึ่งกิจกรรมในวันฮาโลวีน นอกจากเคาะประตูขอขนมตามบ้านต่างๆ แล้ว ยังมีการนำแอปเปิล กับเหรียญชนิด 6 เพนซ์ ใส่ลงในอ่างน้ำ หากใครสามารถแยกแยะของ 2 อย่างนี้ออกจากกันได้ ด้วยการใช้ปากคาบเหรียญขึ้นมา และใช้ส้อมจิ้มแอปเปิลให้ติดเพียงครั้งเดียวได้ ถือว่าผู้นั้นจะโชคดีตลอดปีใหม่ ที่กำลังมาถึงนั่นเอง
5. ฟักทองแกะสลัก แจ๊ค-โอ’-แลนเทิร์น สัญลักษณ์วันฮาโลวีน
และอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่จะขาดเสียไม่ได้ในช่วง เทศกาลฮาโลวีน นี้ก็คือ การตกแต่งประดับประดาแสงไฟตามอาคารบ้านเรือน และการแกะสลักฟักทองเป็นโคมไฟเรียกว่า แจ๊ค-โอ’-แลนเทิร์น (jack-o’-lantern)
6. ใครกัน แจ๊คจอมตืด นักมายากลขี้เหล้าจอมหลอกลวงปิศาจ?
และอีกตำนานที่เกี่ยวกับ ฟักทอง นั้น เป็นตำนานพื้นบ้านของชาวไอริช กล่าวถึง แจ๊คจอมตืด ซึ่งเป็นนักมายากลขี้เหล้า วันหนึ่งเขาหลอกล่อปิศาจขึ้นไปบนต้นไม้ และเขียนกากบาทไว้ที่โคนต้นไม้ ทำให้ปิศาจลงมาไม่ได้ จากนั้นเขาได้ทำข้อตกลงกับปิศาจ “ห้ามนำสิ่งไม่ดีมาหลอกล่อเขาอีก” แล้วเขาจะปล่อยปิศาจลงจากต้นไม้ เมื่อแจ๊คตายลง เขาปฏิเสธที่จะขึ้นสวรรค์ เพราะเขาถูกความชั่วร้ายครอบงำ แถมยังไม่ยอมลงนรก เพราะเขาได้ทำข้อตกลงกับปิศาจไว้ ปิศาจจึงให้ถ่านที่กำลังคุกรุ่นแก่เขา เพื่อให้เขาใช้นำทางไปในทางที่มืดมิด และหนาวเย็น และแจ๊คได้นำถ่านนี้ใส่ไว้ในหัวผักกาดเทอร์นิพ ที่ถูกเจาะให้กลวง เพื่อให้ไฟลุกโชติช่วงได้นานยิ่งขึ้น
7. เมื่อหัวผักกาดหายาก ก็ใช้ฟักทองแทน!!
ชาวไอริชจึงแกะสลักหัวผักกาดเทอร์นิพ และใส่ไฟไว้ด้านใน อันเป็นอีกสัญลักษณ์ของ วันฮาโลวีน เพื่อระลึกถึง “การหยุดยั้งความชั่ว” ซึ่งการเล่น Trick or Treat ของเด็กๆ นั้นก็เพื่อส่งผลบุญให้กับญาติผู้ล่วงลับ และเป็นพิธีทางศาสนาเพื่อทำบุญวันปีใหม่ แต่เมื่อมีการฉลองฮาโลวีนในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันพบว่าฟักทองหาง่ายกว่าผักกาดมาก จึงเปลี่ยนมาใช้หัวฟักทองแทน
และนี่คือ…ตำนาน และประวัติวัน “ฮาโลวีน” ความเชื่อเรื่อง “ผีฟักทอง” ความหลอนที่ทำกันเป็นประเพณี เอาเป็นว่า…แม้จะเป็นความเชื่อก่าแก่ของชาวไอซ์แลนด์ แต่กลับกลายเป็นประเพณีวันสำคัญของชาวอเมริกัน จนปัจจุบันถูกจารึกให้เป็นเทศกาลผีของคนทั่วโลกไปแล้ว กับเทศกาลวันฮาโลวีน
นี่ฉันเป็นผี…ไม่ใช่คนนะ!!!
แบร่…