ตำรวจสอบสวนกลางรวบ 2 ผู้ต้องหา ลักลอบผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ปลอม และฉ้อโกงหลอกขายถุงมือยาง มูลค่าความเสียหายรวม 286 ล้านบาท…
วันที่ 15 พ.ย.2564 มีรายงานว่า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเข้าตรวจค้นโกดังแห่งหนึ่งบริเวณหมู่ 11 ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พบกล่องบรรจุถุงมือยางทางการแพทย์ จำนวนกว่า 10,000 กล่อง และพบถุงมือยางที่รอบรรจุมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
จากการตรวจสอบพบว่า โกดังหลังดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน จนสามารถขออนุมัติศาลออกหมายจับ นายโอซาวา (สงวนนามสกุล) กรรมการบริษัทฯ ซึ่งเป็นเจ้าของโกดังดังกล่าว ตามหมายจับศาลจังหวัดพัทยา ฐาน “ร่วมกันผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้จดทะเบียนสถานประกอบการและผลิตเครื่องมือแพทย์ปลอม” ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2562
โดยสามารถจับกุมตัวนายโอซาวา และภรรยาได้ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ย่านเพลินจิต
พฤติการณ์คือจะหลอกขายถุงมือยางที่ไม่ได้คุณภาพ หรือจัดส่งถุงมือยางที่ไม่ครบตามจำนวนให้กับผู้เสียหาย โดยล่าสุดมีผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินซื้อถุงมือยาง มูลค่าความเสียหายเกือบ 4 ล้านบาท
ต่อมาได้ขยายผล เข้าตรวจค้นตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 6 ตู้ ณ ลานฝากตู้คอนเทนเนอร์ ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พบถุงมือยางปลอม รวมจำนวนกว่า 10 ล้านชิ้น จึงได้ทำการตรวจยึดอายัดของกลางดังกล่าว และนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ห้วยใหญ่ ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
หลังจากมีการจับกุมนายโอซาวา ดำเนินคดีตามกฎหมายเเล้ว ต่อมาทาง บก.ปอศ. ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลในสารบบพบว่า นายโอซาวา มีพฤติการณ์หลอกขายถุงมือยางทางการแพทย์ให้กับชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนหลายราย มีผู้เสียหายซึ่งเป็นบริษัทในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับความเสียหายไปเป็นเงินกว่า 180 ล้านบาท
จากการสืบสวนขยายผล เจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า นายโอซาวา มีบัญชีเงินฝากที่มีการถ่ายโอนทรัพย์สินให้กับคนใกล้ชิด และครอบครองรถยนต์หรูไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้พฤติการณ์ในการหลอกลวงขายถุงมือยางของนายโอซาวา มักจะกระทำผิดในรูปแบบเดียวกันเป็นจำนวนหลายครั้ง ฉวยโอกาสในช่วงขาดแคลนถุงมือยางในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด 19 ซึ่งมีผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นจำนวนหลายคดี มีบางคดีที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติยื่นฟ้องต่อศาลเอง
นอกจากนี้ยังมีผู้เสียหายรายอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับนายโอซาวาฯ รวมมูลค่าความเสียหายแล้วประมาณ 286 ล้านบาท
ในส่วนของการกระทำของนายโอซาวา ซึ่งนอกจากจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว ยังน่าเชื่อว่าจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3(18) ซึ่งทาง บก.ปอศ. ได้ดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตรวจสอบทรัพย์สินและธุรกรรมทางการเงินของนายโอซาวาฯ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.