สายพันธุ์ “เดลตาครอน” หรือไฮบริด ลูกผสมเดลตากับโอมิครอนในไทย ยังไม่น่าห่วง และไม่พบข้อบ่งชี้ความรุนแรง หลัง WHO จัดเป็นสายพันธุ์เฝ้าติดตาม ชี้เป็นสายพันธุ์ชั้นเด็กประถม…
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยข้อมูลการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อโควิด 19 ช่วง 12-18 มี.ค. 2565 จากสุ่มตรวจประชาชนที่ติดเชื้อ กลุ่มคนที่เสียชีวิต บุคลลากรการแพทย์ กลุ่มก้อนการติดเชื้อใหม่ที่ติดเกิน 50 คนขึ้นไป รวมถึงคนที่ติดเชื้อหลังรับวัคซีนครบโดสแล้ว 1,982 ราย พบเชื้อเดลตาเหลือเพียง 1 รายเท่านั้น ทำให้สายพันธุ์เชื้อที่ครองการระบาดในไทย ร้อยละ 99.9 เป็นสายพันธุ์โอมิครอน
“เมื่อแยกเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนขณะนี้ พบสายพันธุ์ย่อยเพียง BA.1 และ BA.2 ยังไม่พบ BA.3 และเป็นไปตามคาด คือสายพันธุ์ BA.2 ที่แพร่เร็วกว่า 1.4 แซงหน้า BA.1 ครองพื้นที่ระบาด คิดเป็นร้อยละ 78.5 แล้ว จากสัปดาห์ก่อนที่พบเพียงร้อยละ 18 แต่ยังไม่พบข้อมูลบ่งชี้ว่า BA.2 แรงกว่า หรือแตกต่างจาก BA.1 เพียงแค่แพร่เร็วกว่า ซึ่งจะเห็นจำนวนคนติดที่มากกกว่า แต่ความรุนแรงไม่ต่างจากเดิม” หมอศุภกิจ กล่าว
ส่วนความกังวลเรื่องสายพันธุ์เดลตาครอน คือการผสมกันระหว่างสายพันธุ์เดลตา กับโอมิครอน เกิดได้ 2 แบบ คือ
- การติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในคนเดียว แต่ไม่ได้ผสมรวมกัน
- การผสมกัน 2 สายพันธุ์ ออกลูกมาเป็นเชื้อใหม่ ที่เป็นลูกผสมของ 2 สายพันธุ์ (ไฮบริด)
ทั้งนี้ ทั่วโลกมีรายงานเข้าระบบ GISAID แล้วกว่า 4,000 ราย แต่ที่ยอมรับและรายงานเป็นทางการ มีเพียง 64 ราย กว่า 50 รายอยู่ในฝรั่งเศส ส่วนที่ยังไม่ยืนยัน 4,000 ราย ต้องรอวิเคราะห์เพิ่มเติม รวมถึงกว่า 70 รายที่ไทยรายงานเข้าไปด้วย
“แต่แม้ที่ไทยรายงานไป จะใช่เดลตาครอนหรือไม่ ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะจากสัดส่วนสายพันธุ์เดลตาในไทย ที่ลดลงเรื่อยๆ โอกาสจะมีเดลตาผสมกับโอมิครอนจึงน้อยลง แต่จะติดตามต่อว่า หากเป็นเดลตาครอน ผสมกันแล้ว เชื้อจะมีอิทธิฤทธิ์หรือแพร่เร็ว กว่าโอมิครอนเดิม ก็อาจเข้ามาแทนที่สายพันธุ์โอมิครอนได้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะรุนแรง เร็ว หรือหลบภูมิมากกว่า และองค์การอนามัยโลก ยังจัดชั้นเดลตาครอน เป็นเพียงสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม คล้ายชั้นเด็กประถม ไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่าสนใจ หรือสายพันฺธุ์ที่น่าห่วงกังวล” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ
ดังนั้น มาตรการทั่วไปที่ใช้อยู่ทั้ง Universal Prevention : UP การเร่งวัคซีนเข็มกระตุ้น เน้นกลุ่ม 608 เร่งรับการฉีดก่อนสงกรานต์ จึงยังใช้ได้ผลดี.