เร่งเคาะ “ค่าแรงขั้นต่ำ” ใช้ 1 ตุลาคม สั่งปลัดแรงงานสรุปภายใน ส.ค. ภาคเอกชนเห็นด้วย แต่ไม่ปรับอัตราเดียว…
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุถึงการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงแรงงานประชุมไตรภาคีจังหวัด อำนาจการปรับให้เหมาะสม แต่ละจังหวัดจะต่างกัน 1-2 บาท และแบ่งเป็น 12 ช่วง เพราะ GDP แต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม และน่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงต้นเดือนกันยายน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากว่า 1 ปี ยังไม่ได้มีการปรับค่าแรง เพราะต้องแก้ปัญหาเยียวยาการแพร่ระบาดโควิด-19 รัฐบาลจึงทำได้แต่ประคับประคอง ไม่ให้มีการเลิกจ้าง ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม
“ตัวเลข “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่จะปรับขึ้นที่ร้อยละ 5-8 มีการคิดคำนวณจาก GDP และภาวะเงินเฟ้อของแต่ละจังหวัด โดยพยายามเร่งรัดนำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกับสภานายจ้างฯ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะปรับให้ขึ้นเร็วกว่าต้นปี เพราะสินค้าอุปโภคบริโภค มีการปรับตัวไปแล้ว พร้อมขอร้องอย่ามองการปรับค่าแรงเป็นเรื่องทางการเมือง” รมว.แรงงาน ระบุ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พร้อมสนับสนุนให้มีการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ เพราะหากไม่ปรับ สินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลโดยตรงต่อแรงงานที่มีรายได้น้อย โดยสิ่งที่หอการค้าไทยไม่เห็นด้วย คือ การปรับค่าแรงงานเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ เพราะไม่สะท้อนข้อเท็จจริง ซึ่งมีคณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละพื้นที่ จะดูแลเพื่อให้เกิดความเหมาะสม.