เบี้ยผู้สูงอายุ 2566 ปมร้อนการเมือง โดย TOPPIC Time ขอไล่เรียงกรณีปรับหลักเกณฑ์การ “จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566” ที่ถูกมองว่า เนื่องจากรัฐบาลถังแตก ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ เพื่อคัดกรองผู้สูงอายุที่ควรจะได้รับ เบี้ยผู้สูงอายุ แทนที่จะได้รับถ้วนหน้าเหมือนเดิม กลายเป็นประเด็นร้อนของรัฐบาลรักษาการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ฉบับล่าสุด “หลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566″ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 12 ส.ค.2566 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุไว้ว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546
สาระสำคัญของระเบียบ
“ผู้สูงอายุ” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป “เบี้ยยังชีพ” หมายความว่า เงินที่รัฐมอบให้แก่ผู้สูงอายุตามกฎหมายเพื่อใช้ในการยังชีพ
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ
- มีสัญชาติไทย
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- มีอายุ 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
ระเบียบนี้ สิ้นสุดลงในกรณี…
- ตาย
- ขาดคุณสมบัติ
- แจ้งสละสิทธิการขอรับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นหนังสือต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ตนมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
กรณีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าว สิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำหรับบุคคลดังกล่าว
ทั้งนี้ หากผู้สูงอายุ ที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ด้วยความสุจริต ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนรายงานผู้บริหารท้องถิ่นทราบ เพื่อระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป โดยยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน
นอกจากนี “บทเฉพาะกาล ข้อ 17″ ยังระบุว่า บรรดาผู้สูงอายุ ที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป การดำเนินการใดที่ดำเนินอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ ให้ถือว่าการดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบนี้แล้ว
มท.1 ยันปรับหลักเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ งานรัฐบาลใหม่
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุ การปรับหลักเกณฑ์จ่าย เบี้ยผู้สูงอายุ ใหม่ ย้ำจะต้องทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะต้องเป็นผู้กำหนด รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีอำนาจ เพราะผูกพันกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ ใช้งบประมาณจำนวนมาก
“ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะหากดูสถานการณ์ที่พูดกันตอนนี้ ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์ อย่างน้อยจะต้องทั่วถึงตามรัฐธรรมนูญ และเป็นธรรม และต้องมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ประชาชนจะต้องได้ประโยชน์สูงสุด หนทางเราเตรียมไว้แล้ว จะออกทางไหนก็ได้ แต่จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ หากฟังจากเสียงที่ออกมาพูดกันทุกพรรค ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์”
ประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุฯ ย้ำไม่ปรับลดเบี้ย-ผู้รับ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ บอกว่า คณะกรรมการยังไม่ได้มีการกำหนดนโยบาย จะปรับลดเงินและจำนวนของเบี้ยผู้สูงอายุใดๆ และยังรับเบี้ยบำนาญตกทอดเหมือนเดิม
“มีเพียงการศึกษาจะทำอย่างไร ที่จะเพิ่มเติมเบี้ยผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพเศรษฐกิจ ได้มากขึ้น ยืนยันว่ามติที่จะไปดำเนินการ ไม่มีการลดเบี้ย หรือลดจำนวนผู้สูงอายุ ส่วนมีความกังวลในการตีความเรื่องของความจน เป็นส่วนที่เขาจะต้องนิยามไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย แต่ไม่มีนโยบายที่จะไปทำอย่างนั้น”
รับงบประมาณโป่งไม่หยุด เพิ่มทุกปี
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ชี้แจงว่า ขอผู้สูงอายุที่มีฐานะเข้าใจ เป็นการปรับเพื่อใช้งบกับกลุ่มที่จำเป็นหรือเดือดร้อนกว่า แก้ปัญหาอย่างพุ่งเป้า และสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ปี 2567 งบเบี้ยยังชีพแตะ 90,000 ล้านบาท จากก่อนหน้าที่ 50,000 ล้านบาท เพิ่มเรื่อยๆ เป็น 80,000 ล้านบาท
รุมจวก ด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นคน
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลต้องเลิกทำให้คนไทยกลายเป็นคนอนาถา หยุดรัฐสงเคราะห์ แต่ต้องเริ่มวางรากฐานรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นคน ด้วยการตระหนักถึงหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลพลเมืองอย่างทั่วถึงเสมอหน้า ไม่เอางบประมาณของรัฐมาสร้างบุญคุณ หรือมาแบ่งคนจน คนรวย
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่า กระทบกับสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรง ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุอยู่ 11 ล้านคน และไม่เห็นด้วยกับการจะใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจน ในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ไม่ครอบคลุม จะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น อีก 6 ล้านคน จะถูกรัฐลอยแพ การบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน อาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ ถือเป็นการลักไก่ของรัฐบาลรักษาการที่ไม่ควรทำ”