แบงก์ชาติ สั่งเบรกรูดปื๊ด ๆ ขอเก็บค่าธรรมเนียม DCC 1% ดีเดย์ 1 พฤษภาคม 2567 หลังบัตรเครดิตวีซา-มาสเตอร์การ์ด ออกประกาศ เรียกหารือด่วน 3 ฝ่ายขอพิจารณาหลักการต้นทุน – ค่าใช้จ่ายอะไรที่ต้องเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย
เก็บค่าธรรมเนียม 1 % รูดปื๊ด
ขาช้อปมีหนาว รูดปื๊ด รูดปื๊ด ยิ่งต้องระวัง!! เมื่อผู้ใช้บริการบัตรเครดิตชำระสินค้า-บริการในต่างประเทศ หรือร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ รวมไปถึงกดเงินสดในต่างประเทศ จะถูกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 1% ของมูลค่าสินค้า ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นไป
– ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท หรือ Dynamic Currency Conversion Fee (DCC Fee) ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่าย และ/หรือยอดกดเงินสด
– สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซา-มาสเตอร์การ์ด ในการซื้อสินค้า และ/หรือบริการด้วยสกุลเงินบาท ที่ร้านค้าและร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนต่างประเทศ เช่น ค่าสมาชิก Netflix, Facebook, การซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน TikTok, การจองที่พักผ่าน Agoda หรือ Booking, การซื้อของผ่าน Alibaba หรือ Amazon และการสตรีมเกมส์ เช่น จองโรงแรมผ่าน agoda 20,000 บาท จะถูกชาร์จ 200 บาท (ปัจจุบัน Visa และ Master Card ประกาศเก็บค่าธรรมเนียม DCC 1% ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป)
– รวมถึง การกดเงินสดด้วยสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม
ธนาคารพาณิชย์ แจงว่า : สาเหตุที่ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียม DCC เพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ร้านค้าในต่างประเทศ ขณะที่ปัจจุบันหลายธนาคารได้ให้บริการ Travel Card หรือบัตรเดินทางที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมดังกล่าว ก็ถือเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ
แบงก์ชาติแตะเบรก ค่าธรรมเนียมรูดปื๊ด
ล่าสุด (7 มีนาคม) ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เตรียมเรียกสถาบันการเงินเข้ามาชี้แจง กรณีที่จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท (DCC Fee) ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่าย เพื่อพิจารณา
– มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการให้บริการในส่วนนี้อย่างไร
– มีการเรียกเก็บอะไร
– เก็บเท่าไหร่ ในบริการนั้น ๆ (ค่าธรรมเนียม)
– ผู้ที่ได้ประโยชน์คือใคร
– พิจารณาเทียบเคียงที่มาที่ไปของต้นทุน และต่อให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจริง ผู้คิดค่าบริการก็ต้องมีการประกาศออกไป ให้ประชาชนทราบว่าเป็นการเสียค่าใช้จ่ายอะไร หากไม่ต้องการเสียค่าธรรมเนียมประชาชนก็ต้องไปเลือกใช้อย่างอื่น ไม่ใช่ลักษณะบังคับต้องจ่าย
“แบงก์ชาติต้องรับฟังทั้ง 3 ฝ่าย คือ ผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ถูกเรียกเก็บ สถาบันการเงินที่เป็นคนเก็บ และตัวกลาง คือ วีซ่า/มาสเตอร์ โดยเชื่อจะหารือจบก่อน 1 พฤษภาคมนี้”