แบงก์ชาติปูพรมเดือน มี.ค.เร่งช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรังที่เข้าหลักเกณฑ์ ปรับโครงสร้างหนี้ – หวังสยบปัญหาหนี้เรื้อรังแบบรวดเดียวจบ ภายใน 5 ปี ดีเดย์ 1 เม.ย. 2567 ลุยจนจบ…
หากเป็นหนี้แล้ว ขอให้เป็นหนี้รักเถอะ…หากเป็นหนี้เน่า หรือ หนี้เรื้อรัง คงเหนื่อยหนัก แล้วอะไร?? ที่เรียกว่าหนี้เรื้อรัง หลักเกณฑ์ใดที่ได้ชื่อว่าเป็นหนี้เรื้อรัง TOPPIC Time ชวนมาทำความเข้าใจ โดยเป็นชุดข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ตามนิยาม และหลักวิชาการ ไม่ต้องกังวลความน่าเชื่อถือ เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องป้องกันและแก้ไขเพื่อไม่ให้เผชิญกับสภาวะดังกล่าว
สินเชื่อ Responsible Lending ช่วยแก้หนี้เรื้อรัง
สำหรับหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เมื่อ 1 ม.ค. 2567 เพื่อยกระดับการช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง ที่มีปัญหาชำระหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ และช่วยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้ได้ รวมถึงคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ บางส่วนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 67 เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่มีปัญหาชำระหนี้ทั้งก่อนเป็นหนี้เสีย (non-NPL) และหลังเป็นหนี้เสีย (NPL) อย่างน้อย 1 ครั้ง การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น เช่น ห้ามคิดค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อรายย่อย (ยกเว้นกรณี refinance สินเชื่อบ้านภายใน 3 ปีแรก)
– ในเดือน มี.ค. 67 จะเข้าตรวจสอบปูพรมผู้ให้บริการผ่านการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง (ongoing supervision) เช่น สุ่มตรวจสอบการปรับโครงสร้างหนี้ว่าผู้ให้บริการได้เข้าช่วยเหลือแก้หนี้จริง โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง
– คุณภาพของการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรัง เช่น การให้ข้อมูลการปรับโครงสร้างหนี้อย่างครบถ้วน ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง
– การแจ้งเตือนลูกหนี้ และติดตามตัวเลขการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรังอย่างต่อเนื่อง
– ตรวจสอบความถูกต้องของการคิดค่าธรรมเนียม เช่น prepayment fee หากตรวจสอบพบประเด็นสำคัญ จะสั่งการให้ผู้ให้บริการแก้ไขทันที และพิจารณาบทลงโทษที่เหมาะสมต่อไป
กลุ่มใดเข้าข่าย “ลูกหนี้เรื้อรัง”
– ลูกหนี้ที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรัง คือ ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต)
– ที่ไม่เป็น NPL
– ชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นที่ชำระมาทั้งหมดเป็นระยะเวลานาน
จำแนก 2 กลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง
- ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (general PD) คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี
มาตรการช่วยเหลือ :
– ลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน เพื่อกระตุกพฤติกรรมให้จ่ายชำระหนี้เพิ่มเติม
– พิจารณาขอความช่วยเหลือให้สามารถปิดจบหนี้เร็วขึ้นได้
- ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (severe PD) คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 5 ปี และมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท สำหรับลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน หรือน้อยกว่า 10,000 บาท สำหรับลูกหนี้นอนแบงก์
มาตรการช่วยเหลือ :
– ลูกหนี้เรื้อรังจะได้รับการแจ้งเตือน และสมัครใจเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง (opt-in) ด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment loan)
– ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี
– ลูกหนี้จะต้องปิดวงเงินสินเชื่อที่เข้าร่วมมาตรการ เพื่อให้ปิดจบหนี้ภายใต้มาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าได้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวด้วย
ขั้นตอน – หลักเกณฑ์ ช่วยลูกหนี้เรื้อรัง
– แบงก์ชาติกำหนดเกณฑ์รายได้ เพื่อมุ่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรังที่เดือดร้อนที่สุดก่อน โดยพิจารณาความเรื้อรังและรายได้ที่ไม่สูงมากของลูกหนี้
– ถ้าเข้าข่าย จะมีทางเลือกปิดจบหนี้ เริ่ม 1 เม.ย. 2567
– ลูกหนี้ทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับการแจ้งเตือนเป็นรายบัญชี (อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง)
– ผ่านช่องทางที่ตกลงไว้กับเจ้าหนี้อย่างน้อย 1 ช่องทาง เช่น จดหมาย อีเมล SMS mobile application เพื่อกระตุ้นให้จ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้น ตลอดจนสมัครเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง
– หากลูกหนี้ต้องการทราบสถานะของตนเอง สามารถติดต่อสาขาหรือ call center ของผู้ให้บริการเพื่อตรวจสอบสถานะและสอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังได้
– มาตรการปิดจบหนี้เรื้อรังจะเน้นช่วยลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียนที่จ่ายขั้นต่ำมานาน มีความตั้งใจจะปิดจบหนี้ และสมัครใจในการเข้าร่วมมาตรการ
– สำหรับลูกหนี้กลุ่มอื่น ๆ ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ สามารถติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอรับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้เกณฑ์ Responsible Lending หรือแนวทางอื่น ๆ ภายใต้การแก้หนี้อย่างยั่งยืนของธนาคารแห่งประเทศไทย
ขอบคุณภาพ – ธนาคารแห่งประเทศไทย