“ค่าครองชีพ” หากจะพูกกันถึงเรื่องนี้ ฮ่องกง-สิงคโปร์-ซูริค (สวิตเซอร์แลนด์) นับเป็นประเทศที่ยังครอง “ค่าครองชีพ” สูงสุดในโลก จากปัจจัยและความผันผวนหลายด้านที่ส่งผล ส่วนประเทศไทย “กรุงเทพ” มีค่าครองชีพลดลง แต่รายได้ก็ยังไล่ไม่ทัน ท่ามกลางเสียงค้าน 400 บาททั่วประเทศใน 1 ต.ค. 67 ที่จะถึงนี้
TOPPIC Time ชวนคุยเรื่องหนักหัวหน่อย…แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวจนน่ากลัว และนับเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล คือปัญหาปากท้องของประชาชน ที่พบว่า “ค่าครองชีพ” ปัจจุบันนั้นสูงขึ้นหลายเท่าตัว!! ตรงกันข้ามกับ “รายได้” ล่าสุดได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกประมาณ 2 – 16 บาท (รอบ 2 เดือน เม.ย. 67) หลังจากที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วัน กระทรวงแรงงานประกาศว่า จะใช้พร้อมกันทั่วประเทศ 1 ต.ค. 67 นี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างแรงจากบรรดานายจ้าง ยังเป็นสมการที่รัฐบาลแก้ไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะออกหัว-ก้อยเลยค่ะคุณผู้ชม!!
สำรวจ “ค่าครองชีพ” ทั่วโลกปี 2024
เว็บไซต์ Mercer ที่ให้คำปรึกษาทรัพยากรส่วนบุคคล – ฐานข้อมูลค่าตอบแทนแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยรายงานการจัดอันดับ “ค่าครองชีพ” ในเมืองทั่วโลกประจำปี 2024 พบว่า ฮ่องกง สิงคโปร์ และซูริก (สวิตเซอร์แลนด์) ยังครองแชมป์ “ค่าครองชีพ” สูงสุดเหมือนปีที่แล้ว (2023) โดยมีปัจจัยต่างๆ เช่น ตลาดที่อยู่อาศัยราคาแพง ค่าขนส่ง ค่าสินค้าและบริการที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพสูง สำหรับคนงานต่างชาติ
สำหรับเมืองที่มี “ค่าครองชีพ” ต่ำที่สุด ได้แก่ อิสลามาบัด (ปากีสถาน ) ลากอส-อาบูจา (2 เมืองของไนจีเรีย) มาจากค่าเงินที่อ่อนค่าลง
10 อันดับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุด
1. ฮ่องกง
2. สิงคโปร์
3. ซูริค(สวิตเซอร์แลนด์)
4. เจนีวา(สวิตเซอร์แลนด์)
5. บาเซิล(สวิตเซอร์แลนด์)
6. เบิร์น(สวิตเซอร์แลนด์)
7. นิวยอร์ก
8. ลอนดอน
9. แนสซอ (บาฮามาส)
10. ลอสแอนเจลิส
อันดับประเทศในอาเซียนที่ “ค่าครองชีพ” สูงสุด
ทั้งนี้ เป็นการเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว (2023)
- สิงคโปร์ (อันดับคงเดิม)
- กรุงพนมเปญ (อันดับ 123 เพิ่มขึ้น 9)
- กรุงเทพ (อันดับ 129 ลดลง 24)
- กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ (อันดับ 131 เพิ่มขึ้น 2)
- กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย (อันดับ 157 ลดลง 6)
- กรุงฮานอย เวียดนาม (อันดับ 172 ลดลง 16)
- บรูไน (อันดับ 176 ลดลง 4)
- เมืองโฮจิมินห์ เวียดนาม (อันดับ 178 ลดลง 14)
- เมืองย่างกุ้ง เมียนมา (อันดับ 183 เพิ่มขึ้น 21)
- กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย (อันดับ 200 ลดลง 20)
ปัจจัยใดส่งผลให้ “ค่าครองชีพ” สูง??
– ความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน ที่ส่งผลโดยตรงต่อค่าจ้าง และค่าครองชีพ
– ความผันผวนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนความขัดแย้งและเหตุฉุกเฉินในท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในด้านต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค ภาษีท้องถิ่น และการศึกษา ซึ่งนับรวมเป็น “ค่าครองชีพ” ด้วย.
ข้อมูล : Mercer