สุดเศร้าวงการนักเขียน สิ้นคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ ‘ทมยันตี’ ศิลปินแห่งชาติชื่อดัง ได้จากไปอย่างสงบในวัย 85 ปี…
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 มีรายงานว่า เฟซบุ๊ก สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โพสต์รูปและข้อความแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือนามปากกา ทมยันตี นักเขียนชื่อดัง โดยระบุข้อความดังนี้
“สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ขอแสดงความอาลัยยิ่งต่อการจากไปของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี, ลักษณวดี, กนกเรขา, โรสลาเรน, มายาวดี) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555”
ทั้งนี้ คุณหญิงวิมล หรือที่คนรู้จักกันในนามปากกาว่า ทมยันตี ถือเป็นนักเขียนชื่อดัง ที่สร้างผลงานไว้มากมาย แม้จะมีนามปากกาถึง 6 นาม แต่ทุกงานผลเขียนก็ได้รับที่ยอมรับ ทำให้นักประพันธ์นวนิยายชาวไทยท่านนี้ มีชื่อเสียงและโด่งดังที่สุดคนหนึ่งในวงการนักเขียนบ้านเรา โดยผลงานการันตี ทมยันตี จนได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2555
TOPPIC Time จะพาไปรู้จักประวัติของนักเขียนท่านนี้พร้อมๆ กัน
เปิดประวัติ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ ทมยันตี นักเขียนชื่อดัง
9 ประวัติ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ ทมยันตี
1. ทมยันตี มีชื่อจริงว่า คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ชื่อเล่นว่า อี๊ด เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จังหวัดพระนคร
2. คุณหญิงวิมลเป็นบุตรีคนใหญ่ของทองคำ และไข่มุก ศิริไพบูลย์ มีพี่ชาย 1 คน และมีน้องสาว 1 คน ตระกูลฝ่ายบิดาเป็นทหารเรือ ตระกูลฝ่ายมารดาเป็นชาววัง
3. เธอจบการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ จากนั้นศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนมาเรียนในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแทน
4. ทมยันตี เป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัยร่วมทีมกับ สมัคร สุนทรเวช และ ชวน หลีกภัย ตลอดเวลาที่เรียน คุณหญิงใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือในห้องสมุดหลายแห่งเธอตัดสินใจไม่ไปสอบเพื่อรับปริญญาทำให้เธอสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาแทน
5. ในขณะศึกษาระดับชั้นปีที่ 3 เพื่อนของคุณหญิงได้ชักชวนให้ไปสมัครเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ คุณหญิงจึงลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพครู และเขียนหนังสือไปพร้อมๆ กัน ต่อมาเธอจึงเลิกสอนหนังสือและหันมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวจนถึงปัจจุบัน
6. คุณหญิงวิมลเริ่มเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารศรีสัปดาห์ และได้เขียนเรื่องสั้นต่อเนื่องอยู่ถึง 11 ปี
7. ขณะที่เริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกคือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์
8. จากการนิยมใช้สำนวนภาษาตามแบบหลวงวิจิตรวาทการ และนักเขียนสตรีรุ่นเก่าอย่าง ร.จันทพิมพะ ของ ทมยันตี ทำให้ปรากฏผลงานมากมาย โดยหลายเรื่องโด่งดัง จนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เช่น คู่กรรม (ทั้งสองภาค) ดั่งดวงหฤทัย ทวิภพ คำมั่นสัญญา ดาวเรือง รอยอินทร์ ร่มฉัตร เลือดขัตติยา ในฝัน เป็นต้น โดยนวนิยายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คู่กรรม ภาคหนึ่ง
9. คุณหญิงวิมล มีนามปากกาถึง 6 ชื่อ ได้แก่
– โรสลาเรน เป็นนามปากกาแรก เทียบคำในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “กุหลาบราชินี” ใช้เขียนเรื่องรักพาฝันหรือจินตนิยาย
– ลักษณวดี ใช้สำหรับเขียนนวนิยายรัก ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาของเหล่าเจ้าหญิงเจ้าชาย
– กนกเรขา ใช้สำหรับแต่งเรื่องตลกเบาสมอง
– ทมยันตี (อ่านว่า ทะ–มะ–ยัน–ตี) เป็นนามปากกาที่ใช้แต่งเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตและสังคม รวมทั้งแต่งเรื่องราวแนวจิตวิญญาณ
– มายาวดี ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่างๆ
– วิม–ลา เป็นนามปากกาล่าสุดของคุณหญิงวิมล ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะ หรือเรื่องเล่าจากตำนาน ความเชื่อต่างๆ ลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ล้านนาเทวาลัย” โดยเริ่มเขียนเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562
TOPPIC Time ขอไว้อาลัยกับการจากไปของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ ทมยันตี นักเขียนที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ในการจากไปของนักประพันธ์ชื่อดัง ที่ได้ฝากผลงานได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นจำนวนมาก นับเป็นร้อยๆ เรื่อง แต่ใครพอนึกออก จะมีผลงานเหล่านี้รวมอยู่ด้วย อย่างค่าของคน อุบัติเหตุ เวียงกุมกาม ล่า นากพัทธ์ พิษสวาท พี่เลี้ยง และใบไม้ที่ปลิดปลิวด้วย.