“ท้าวทองกีบม้า” หรือ “มารี กีมาร์” ชีวิตนี้สุดพลิกผัน ตัวละครที่มีอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์ไทย…
และแล้ววันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง หลังจากที่ฝากความประทับใจเอาไว้ให้แฟนๆ สุดตราตรึงในละคร “บุพเพสันนิวาส” สร้างความฟีเวอร์ให้แก่ละครไทยย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์กลับมาคึกคักอีกครั้ง จนหลายค่ายเริ่มหยิบบทประพันธ์ที่มีกลิ่นอายประวัติศาสตร์ขึ้นมาปัดฝุ่นผลิตใหม่ให้เป็นละครสู่สายตาแฟนๆ แบบรัวๆ ล่าสุด “พรหมลิขิต” หรือ “บุพเพสันนิวาส 2” ก็ได้เวลาออนแอร์สักที หลังบ่มเพาะมาอย่างยาวนานหลายปีด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่าแฟนๆ ก็ยังคงตรึงตรากับตัวละครหลายๆ ตัวที่โลดแล่นอยู่ในนิยายเรื่องนี้
โดยวันนี้ ทีมข่าวบันเทิง TOPPIC Time จะขอเสนอความน่าสนใจของชีวประวัติของ “ท้าวทองกีบม้า” หรือ “มารี กีมาร์” เพื่อนสนิทชิดเชื้อที่เรียกชื่อเล่นกันว่า “แม่มะลิ” ของ “แม่การะเกด” นั่นเอง
“ท้าวทองกีบม้า” รับบทโดย “ซูซี่ สุษิรา แน่นหนา” นักแสดงมากความสามารถกับคาแรกเตอร์สาวลูกครึ่งทรงสง่า ท่วงท่าจริยางดงามดั่งนางฟ้านางสวรรค์ แถมมีพรแสวงเรื่องการทำขนมจนเป็นที่เลื่องลือ มีชื่อมีเสียงในด้านอาหารหวานตลอดกาล จวบจนทุกวันนี้ ซึ่ง “ซูซี่” เล่นได้ดีมาก !! เธอถ่ายทอดบทบาทได้อย่างลึกซึ้งและทรงพลัง จนกลายเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้
แต่กว่าจะขึ้นแท่นเป็นเอกอุด้านขนมหวานไทย “ท้าวทองกีบม้า” สาวหน้าสวยยุคโบราณที่มีตัวตนอยู่จริง ต้องฝ่ามรสุมอุปสรรครุมเร้ามากเท่าไร วันนี้เราจะมากางประวัติของเธอกัน เพื่อต่อเติมความรู้เชิงประวัติศาสตร์ให้กับท่านผู้อ่านทุกคน
โดย “แม่มะลิ” นั้นเป็นตัวละครที่แฟนๆ ต่างมีความห่วงใย หลังจากที่เธอต้องเจอกับความรักที่ไม่ค่อยจะสมูทสักเท่าไรกับ “เจ้าพระยาวิชเยนทร์” (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น หลังสามีถูกลงทัณฑ์จนแดดิ้นไป ชีวิตของ “แม่มะลิ” ที่ดูเหมือนจะย่ำแย่อยู่แล้ว ยิ่งต้องพบเจอกับพายุที่ถาโถมโหมซัดจนแทบพัง ด้วยการกระทำจากคนหลายคน
เผยประวัติ “ท้าวทองกีบม้า”
ตามหน้าประวัติศาสตร์ “ท้าวทองกีบม้า” มีชื่อจริงว่า “มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา” (Maria Guyomar de Pinha) เป็นแม่หญิงช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นภรรยาของ “เจ้าพระยาวิชเยนทร์” (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกที่ทำราชการในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เธอมีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก ตำแหน่ง “ท้าวทองกีบม้า” กำกับเครื่องชาวพนักงานหวานในพระราชวัง
เล่าลือกันว่า “แม่มะลิ” ได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกสให้เป็นขนมหวานของไทย โดยผสมผสานความรู้ด้านการทำอาหารที่มีมาแต่เดิมมารวมเข้ากับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ทั้งยังสอนความรู้ดังกล่าวแก่เหล่าสตรีในบัญชา จนตำรับอาหารเป็นที่เผยแพร่โดยทั่วไปและตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลังสืบไป ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมโปรตุเกสที่แพร่เข้าสู่สังคมไทย “ท้าวทองกีบม้า” จึงได้การยกย่องให้เป็น “ราชินีแห่งขนมไทย”
ทองม้วน, ทองหยิบ, ทองหยอด, ทองพลุ, ทองโปร่ง, ฝอยทอง, กะหรี่ปั๊บ, ขนมหม้อแกง, สังขยา, ขนมผิง, สัมปันนี, ขนมขิง, ขนมไข่เต่า และ ลูกชุบ ฯลฯ คือเหล่าขนมหวานที่เชื่อว่า “ท้าวทองกีบม้า” เป็นผู้รังสรรค์ขึ้น แต่กลับมีกระแสคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า ขนมโปรตุเกสเหล่านี้แพร่หลายมาพร้อมกับกลุ่มชนเชื้อสายโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยามากว่า 150 ปีก่อนที่นางจะเกิดเสียอีก เรื่องที่นางดัดแปลงขนมไทยจากตำรับโปรตุเกสเป็นคนแรกเห็นจะผิดไป ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถให้ความชัดเจนได้ เพียงแต่มีข้อโต้แย้งขึ้นมาเพียงเท่านั้น
คู่ชีวิต “มารี ตองกีมาร์” หรือ “ท้าวทองกีบม้า”
“มารีอา” หรือ “มารี ตองกีมาร์” เป็นชาวคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส, เบงกอล และ ญี่ปุ่น เป็นธิดาคนโตของ “ฟานิก กูโยมาร์” (Fanik Guyomar) บิดามีเชื้อสายโปรตุเกส, ญี่ปุ่น และเบงกอล ที่อพยพมาจากอาณานิคมโปรตุเกสในเมืองกัว กับมารดาชื่อ “อูร์ซูลา ยะมะดะ” ลูกหลานผู้ลี้ภัยจากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่น “มารีอา” สมรสกับ “เจ้าพระยาวิชเยนทร์” (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกอันเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ขณะนั้นที่ “มารีอา” อายุเพียง 16 ปี (ถือเป็นเรื่องปกติในยุคนั้น) ตอนแรกๆ บิดาไม่ค่อยพึงใจในพฤติกรรมของลูกเขยที่หลงลาภยศสรรเสริญและมักมากในโลกีย์กาม “ฟอลคอน” จึงแสดงความจริงใจด้วยยอมละนิกายแองกลิคันที่ตนนับถือ เปลี่ยนเป็นนิกายโรมันคาทอลิกตามมารีอา ฟานิกจึงเห็นแก่ความรักของคอนสแตนตินและยินยอมได้ทั้งสองสมรสกัน โดยมีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมงานมงคลสมรสดังกล่าวด้วย “มารีอา” ดำรงชีวิตอย่างปกติไม่โอ้อวดในยศถาบรรดาศักดิ์ ถึงแม้ตัวเธอจะได้สมรสกับขุนนางชั้นสูงก็ตาม อีกทั้งยังชี้ชวนให้สามีประพฤติและปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอขึ้นกว่าเก่า
“ท้าวทองกีบม้า” และ “เจ้าพระยาวิชเยนทร์” มีบุตรด้วยกันสองคนคือ จอร์จ ฟอลคอน (George Phaulkon) กับคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantin Phaulkon) บ้างว่าชื่อควน ฟอลคอน (Juan Phaulkon) แต่ก่อนหน้านี้ฟอลคอนมีบุตรสาวคนหนึ่งที่เกิดกับหญิงชาววังที่ได้รับพระราชทานจากกรมหลวงโยธาเทพเพื่อผูกมัดฟอลคอนไว้กับราชสำนัก หลังสมรสแล้วมารีอาจึงส่งหญิงผู้นั้นไปเมืองพิษณุโลก มารีอาก็แสดงน้ำใจด้วยนำบุตรของหญิงผู้นั้นมาเลี้ยงเองเป็นอย่างดี นอกจากนี้เธอและสามียังอุปถัมภ์เด็กเข้ารีตกว่า 120 คน
แต่ชีวิตสมรสของเธอก็ไม่ราบรื่นนัก เหตุก็เพราะความเจ้าชู้ของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ที่นอกใจนางไปมีสัมพันธ์สวาทกับคลาร่า (Clara) นางทาสชาวจีนในอุปการะของเธอ มารีอาจึงขนข้าวของและผู้คนจากลพบุรีกลับไปที่กรุงศรีอยุธยามาแล้วครั้งหนึ่ง
พายุร้ายกระหน่ำทุกข์ระทม “มารี กีมาร์” หรือ “ท้าวทองกีบม้า”
และถึงแม้ “มารีอา” จะคอยดึงให้สามีกลับเข้าสู่วิถีแห่งสุจริตชน หากแต่ความโลภโมโทสันก็บังตาจนเสียสิ้น “เจ้าพระยาวิชเยนทร์” ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตร หลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของเธอก็พลันดับวูบลงทันที “มารีอา” สิ้นเนื้อประดาตัวความทุกข์โถมทับแสนสาหัส ทั้งยังต้องทนทุกขเวทนากับการถูกคุมขังอีกด้วย ว่ากันว่า ขณะที่เจ้าพระยาวิชเยนทร์กำลังจะถูกประหารนั้น บางบันทึกระบุว่า “มารีอาเศร้าโศกร่ำไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ” บ้างก็ว่า นางมิได้ร่ำไห้ให้สามีแม้แต่น้อย แต่นางกลับไม่ยอมให้ร่ำลาลูกๆ แถมถ่มน้ำลายรดหน้าสามีเสียด้วยซ้ำ
แต่ด้วยบุญบารมีที่สร้างสมไว้ ฟ้ายังคงเปิดเมฆหมอกเบาบางจางลง เจ้าหน้าที่ผู้คุมขังที่เคย “มารีอา” เคยอุปการะเอื้อเฟื้อไว้ก่อนหน้าได้ลักลอบให้ความสะดวกบางประการแก่นาง ขณะที่ชาวต่างด้าวคนอื่นจะถูกกักขังและทำโทษอย่างรุนแรง ต่อมา “มารีอา” ถูกนำตัวไปเป็นคนใช้ในวัง แต่โชคร้ายยังคงตามติดไม่ลดละ เมื่อ “หลวงสรศักดิ์” พระโอรสในสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่ มีความหลงใหลพึงใจในรูปโฉมของนาง และมีพระประสงค์จะนำนางไปเป็นภริยาอีกคน มีการส่งคนมาเกลี้ยกล่อมพร้อมคำมั่นนานัปการต้องการชนะใจ แต่เมื่อไม่สมดังใจก็เปลี่ยนเป็นความเกลียดชังและการอาฆาตมาดร้าย
เมื่อถึงจุดสิ้นสุดที่จะทนไหว “ท้าวทองกีบม้า” จึงเขียนจดหมายเป็นภาษาละตินส่งไปยังบาทหลวงฝรั่งเศส เพื่อให้บาทหลวงนำความจากจดหมายเข้ากราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บังคับให้บรรษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสคืนเงินค่าหุ้นของ “เจ้าพระยาวิชเยนทร์” ที่ได้ลงทุนไว้ให้คืนให้กับเธอ ซึ่งหลักฐานนี้ถูกบันทึกไว้ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1706 (พ.ศ. 2249) ซึ่งเป็นแผ่นดินในรัชสมัยของพระเจ้าเสือ
ปลายทางชีวิต “มารี กีมาร์” หรือ “ท้าวทองกีบม้า”
จากบันทึกของ “เมอซีเยอโชมง” ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในปี พ.ศ. 2262-2267 ให้ข้อมูลว่าหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ชีวิตของมาดามฟอลคอนได้กลับมาดีขึ้นโดยลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าให้มาดามฟอลคอนเข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางพระราชหฤทัยให้นางดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และมีสตรีในบังคับบัญชากว่า 2,000 คน ทั้งนี้ท้าวทองกีบม้าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต คืนเงินสู่ท้องพระคลังปีละครั้งมาก ๆ ทุกปี จนเป็นที่โปรดปรานในองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งจอร์จ บุตรชายของเธอที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดไว้ใกล้ชิดพระองค์ ดังปรากฏจากบันทึกของเมอซีเยอโชมง ความว่า
“…พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้หาจอร์จ บุตรของเมอซีเยอกงส์ต็องส์ แล้วโปรดให้แต่งตัวอย่างดี ๆ และรับสั่งให้นายจอร์จเรียนภาษาไทยเสียให้รู้ ได้โปรดให้เอานายจอร์จไว้ใช้ใกล้ชิดพระองค์ และได้โปรดเป็นครูด้วยพระองค์เอง สอนภาษาไทยให้แก่นายจอร์จ…”
จากความเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดปรานบุตรคนโตของนางมาก ส่วนบุตรคนเล็กคือ คอนสแตนติน ได้สนองพระเดชพระคุณสร้างออร์แกนเยอรมันถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากหลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศส คอนสแตนตินถูกเรียกว่า ราชมนตรี เป็นตำแหน่งผู้นำของชุมชนคริสตัง
ในปี พ.ศ. 2260 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติให้ส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนแก่นางตามที่นางขอร้องในจดหมายที่เคยส่งไปมาให้ ที่สุดหลังพ้นจากวิบากกรรมอันเลวร้าย ท้าวทองกีบม้าได้ใช้เวลาแห่งบั้นปลายชีวิตที่เหลือด้วยการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดโดยพำนักอยู่กับลูกสะใภ้ที่ชื่อ ลุยซา ปัสซัญญา (Louisa Passagna) ภริยาม่ายของคอนสแตนติน และได้ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ. 2265