
หนังผีไทย ลู่ทางสดใสในตลาดไต้หวัน ปี 66 เข้าฉาย 10 เรื่อง โกยรายได้ 28.46 ล้านบาท เหตุหลอนจริง-ผูกความเชื่อ หนังแนวอื่นๆ ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ชี้ช่องผู้ผลิตมือใหม่-มือเก่า เปิดกว้างทั้ง ของบประมาณ-ลงทุน-ร่วมมือ-แข่งขัน โชว์ฝีมือ!!
TOPPIC Time มีข่าวดีมาเล่าสู่กันฟัง สำหรับผู้สร้างหนังไทย ทั้งมือใหม่หรือมือเก่า หากมีฝีมือเจ๋งจริง มีของโชว์จริงๆ ก็โตได้ในตลาดหนังไต้หวันที่เปิดกว้าง และตอบรับหนังไทยทุกแนว โดยเฉพาะหนังผีไทย ณ เวลานี้ต้องบอกว่าแรงสุดๆ โกยรายได้ปีที่แล้วเกือบ 30 ล้านบาท มาจากฝีมือล้วนๆ ดัน Soft Power ไทยสดใส ต๊ะติ๊งโหน่ง
หนังผีไทยสดใส ตลาดไต้หวัน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา สำรวจตลาดภาพยนตร์ของไทยในตลาดไต้หวัน และโอกาสในการขยายตลาดภาพยนต์ของไทยเข้าสู่ตลาดไต้หวัน พบว่า ตลาดภาพยนตร์ไทยในไต้หวัน ตั้งแต่ ม.ค.-26 พ.ย. 2566 มีเข้าฉายรวม 10 เรื่อง ทำรายได้รวม 28.46 ล้านบาท เป็นหนังผีไทยถือว่าฟื้นตัวกลับมาใกล้กับภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากที่สุด
– บ้านเช่าบูชายัญ ทำรายได้ 16.55 ล้านบาท
– สุขสันต์วันกลับบ้าน รายได้ 9.25 ล้านบาท
– Mae Nak Reborn รายได้ 3.01 ล้านบาท
– รักแรกโคตรลืมยาก รายได้ 1.66 ล้านบาท
– หุ่นพยนต์ รายได้ 1.13 ล้านบาท
– ดับแสงรวี รายได้ 5.97 แสนบาท
– อีหนู อันตราย รายได้ 5.40 แสนบาท
– บุพเพสันนิวาส 2 รายได้ 5.04 แสนบาท
– แอน รายได้ 1.13 แสนบาท
– อานนท์เป็นนักเรียนดีเด่น รายได้ 8.7 หมื่นบาท
หนังผีไทยแนวสยองขวัญ ชาวไต้หวันปลื้ม
จากสถิติ หนังผีไทย เป็นแนวภาพยนตร์จากไทย ที่ถูกใจตลาดไต้หวันเป็นอย่างมาก ชาวไต้หวันส่วนใหญ่เชื่อว่าไสยศาสตร์ และปรากฏการณ์สยองขวัญในแบบของหนังผีไทย มีความแตกต่างและน่ากลัวในตัวของมันเอง ทำให้เพิ่มความลี้ลับแก่หนังผีไทยมากขึ้น ส่งผลให้หนังประเภทนี้ เป็นที่โปรดปรานของกลุ่มผู้ชมที่ต้องการความตื่นเต้นและหวาดกลัว
หนังไทยที่ฉายในไต้หวันปี 2566 จำนวน 10 เรื่อง เป็นหนังผีไทยถึง 5 เรื่อง และทำรายได้มากที่สุดจากการเข้าฉายในไต้หวัน 3 อันดับแรกในปี 2566 ก็เป็นหนังผีไทยทั้งสิ้น
หนังผีไทยเฟื่อง – หนังแนวอื่น ก็นิยมไม่ย่อย
– นอกจาก หนังผีไทย ภาพยนตร์แนวอื่นๆ ที่เข้าฉายในตลาดไต้หวัน ก็ได้รับความชื่นชอบเช่นกัน อาทิ สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก (2553) คิดถึงวิทยา (2557) ไอฟาย แต๊งกิ้ว เลิฟยู้ (2557) แฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว (2560) Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน (2562) เป็นต้น
– ภาพยนตร์ซีรีส์วาย ก็ได้รับความนิยมในตลาดไต้หวันมากขึ้น เช่น Present Perfect แค่นี้ก็ดีแล้ว (2560) ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค (2563) ดิว ไปด้วยกันนะ (2563) 2gether : The Movie (2565) และดับแสงรวี (2566) เป็นต้น
– ภาพยนตร์แนว LGBT ของไทย ที่สร้างสีสันที่รู้จักไปทั่ว เช่น รักแห่งสยาม (2551) และ Yes or No อยากรักก็รักเลย (2553) ได้รับการยกย่องให้เป็นภาพยนตร์แนว LGBT ยุคบุกเบิกของตลาดไต้หวันเลยทีเดียว
ส่งหนังผีไทย จับตลาดไต้หวัน-ตลาดจีน โอกาส&แข่งขัน
สำหรับภาพยนตร์เสียงภาษาจีน ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ เพราะมีคนเชื้อสายจีนอาศัยนอกพื้นที่จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊า อีกมากมายทั่วโลก แต่อุปสรรคด้านภาษา อาจทำให้ยากสำหรับไทยในการผลิตภาพยนตร์ภาษาจีนเองทั้งหมด การร่วมทุนสร้างภาพยนตร์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้สามารถเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์ภาษาจีนได้โดยง่าย โดยอาจใช้จุดแข็งจากความนิยมภาพยนตร์ ประเภทหนังผีไทย และหนัง Y จากหนังไทยเป็นจุดริเริ่มเพื่อร่วมมือ
– รัฐบาลไต้หวันได้เปิดโอกาสให้คนทำหนังจากต่างประเทศ สามารถขอรับทุนสนับสนุนในการร่วมลงทุนเพื่อสร้างภาพยนตร์และแอนิเมชันได้
– เปิดให้ทีมงานจากต่างประเทศสามารถเสนอโครงการได้ผ่านการจัด Taiwan Creative Contest Fest
– จะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี และจะมีการคัดเลือกผลงานมา Pitching ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน
– สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสมัครและการ Pitching ได้ทั้งหมด
– ลงทะเบียนล่วงหน้า กับการเปิดรับสมัครได้ที่ https://register.taicca.tw/#/register
– การเข้าสู่ตลาดไต้หวัน มีเทศกาลภาพยนตร์ใหญ่ 2 เทศกาล คือ Taipei Golden Horse Film Festival หรือ เทศกาลม้าทองคำ และ Taipei Film Festival จะเป็นช่องทางช่วยสร้างการรับรู้ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย