“ข้าวแช่” หนึ่งในเมนูภูมิปัญญาตำรับชาววัง ยิ่งช่วงหน้าร้อน เทศกาลสงกรานต์แบบนี้ ข้าวแช่ถือเป็นอาหารมหัศจรรย์ที่มีมาแต่สมัยโบราณเลยทีเดียว อาหารที่ผูกด้วยความเชื่อ ความวิเศษ เลิศรส และคุณสมบัติการแก้อาการ ทั้งร้อนใน แก้ไข้ กระหายน้ำ และช่วยบำรุงร่างกาย ล้ำไปอีกคนโบราณนี่!!
TOPPIC Time จึงอยากขอแนะนำ 1 เมนู ข้าวแช่ คลายร้อน จากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ทะลุเดือดทะเลสาบต่อเนื่อง หลังกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า จะสิ้นฤดูร้อนประมาณกลาง-ปลายเดือนพฤษภาคม บระเจ้า…ตายก่อนพอดี!!
และก็จริงดังว่า อากาศร้อนจัด ที่ยังดำเนินต่อเนื่อง พบข้อมูลชี้ชัดว่า อากาศที่ร้อนนี้ สามารถคร่าชีวิตคนได้เพราะเริ่มเห็นข่าวคนแก่ช็อกเพราะอากาศร้อนจนเสียชีวิตแล้วหลายคน ดังนั้นการดับความร้อนมีหลายวิธี สาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์ก็เป็นหนึ่งวิธีตามภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน แต่อาหารการกิน ก็ช่วยดับร้อนได้เช่นกัน
“ข้าวแช่” อาหารถวายเทวดา อาหารประเพณีสงกรานต์
หลายคนยังไม่รู้จัก โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน รุ่นใหม่ๆ “ข้าวแช่” เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวรามัญ (มอญ) มีชื่อเรียกว่า เปิงด้าจก์ แปลว่า “ข้าวน้ำ” หรือ “เปิงซังกราน” แปลว่า “ข้าวสงกรานต์” ซึ่งคนไทยเรียกกันว่า “ข้าวแช่”
ทั้งนี้ ข้าวแช่ เป็นอาหารที่นิยมทำกันในวันสงกรานต์ เพื่อตั้งจิตอธิษฐานบูชาเทวดาเสริมสิริมงคล ชาวไทยเชื้อสายมอญนิยมทำ ข้าวแช่ ในวันสงกรานต์ ขั้นตอนการทำจะจัดเตรียมอย่างพิถีพิถัน เนื่องจากเป็นพิธีกรรมบูชาเทวดา จะมีการสร้างศาลเพียงตาตั้งไว้ที่ลานกลางแจ้ง คลุมผ้าเป็นผนังประดับดอกไม้ให้สวยงาม หลังจากนั้นจะมีพิธีเชิญเทวดาลงมาประทับที่ศาล เพื่อประสิทธิประสาทพร
วิธีการทำ “ข้าวแช่” ตามความเชื่อโบราณ
– เริ่มกระบวนการหุงข้าว โดยคัดสรรเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์มาซาวน้ำ 7 ครั้ง ให้สะอาดก่อนนำไปหุง
– เตาไฟที่จะใช้หุงข้าวนั้น ต้องตั้งที่ลานโล่งนอกชายคาบ้าน
– เมื่อหุงสำเร็จแล้ว จะนำไปถวายบูชาเทพเทวดา และถวายแด่พระสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล ความสุขความเจริญแก่ครอบครัว
– ก่อนนำไปมอบให้แก่ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ
เครื่องเคียง ข้าวแช่ ประดับประดา ประดิษฐ์ประดอย
ข้าวแช่ จะรับประทานคู่น้ำลอยดอกไม้ เช่น กุหลาบมอญ มะลิ กระดังงา อบควันเทียนและเครื่องเคียง ซึ่งเครื่องเคียงหลักของข้าวแช่ ชาวมอญปทุมธานีที่นิยมทำกันมี 5 อย่าง ได้แก่ ไข่เค็ม หมูฝอยหรือเนื้อฝอย ไชโป๊ผัดไข่ กระเทียมดองผัดไข่ ปลาช่อนป่น บางชุมชนอาจจะเพิ่ม เช่น ลูกกะปิทอด แตงโม กาละแม ยำมะม่วงโบราณ เป็นต้น
วิธีการรับประทาน “ข้าวแช่” ดับร้อน
สำหรับวิธีรับประทาน “ข้าวแช่” นั้น ให้ตักน้ำอบใส่ในถ้วยข้าวแช่ ใส่น้ำแข็งลงไปด้วยก็ได้ จากนั้นจะตักข้าวแช่หรือเครื่องเคียงรับประทานก่อนก็ได้ ค่อยๆ สัมผัสรสชาติของเครื่องเคียง แต่จะไม่ใส่เครื่องเคียงลงไปในถ้วยข้าวแช่ เพราะจะทำให้ข้าวแช่เสียรสชาติ ซึ่งข้าวแช่เป็นอาหารช่วยแก้ร้อนใน แก้ไข้ กระหายน้ำ ช่วยให้ร่างกายสดชื่น และเครื่องเคียงต่างๆ ช่วยบำรุงร่างกาย และยังทำให้เจริญอาหาร
เมนู “ข้าวแช่” มีให้ลิ้มลองได้ ทั้งในพื้นที่ กทม. และพื้นที่หลายจังหวัด ที่เลื่องชื่อจังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี หรือร้านอาหารใหญ่ๆ ที่จับลูกค้าเดิมๆ ที่ชื่นชอบอาหารโบราณ หรือเมนูคลายร้อน ในช่วงนี้
ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม