ไม่ประมาท ก่อนโควิดเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น “หมอประสิทธิ์” ชี้ยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นดีที่สุด…
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุ การติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 ในไทยและทั่วโลก พบว่า ส่วนใหญ่เผชิญกับโควิด สายพันธุ์โอมิครอน แม้จะแพร่เร็ว แต่อาการรุนแรงลดลง (กว่าสายพันธุ์เดลตา) โดยประสบการณ์กว่า 2 ปีกับโรคโควิด พบว่ายิ่งเชื้อแพร่ง่าย ยิ่งมีโอกาสที่เชื้อจะกลายพันธุ์ แต่ไม่อาจรู้ได้ว่า…จะดีขึ้นหรือแย่ลง แม้ทั่วโลกจะมีแนวโน้มให้โควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่นก็ตาม ขณะที่สถานการณ์โรควิด 19 ของทั่วโลก ยังไม่เข้าข่ายที่จะเป็นเชื้อประจำถิ่นได้
องค์การอนามัยโลก (WHO) แจ้งเตือนอย่างเป็นทางการเมื่อ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า โควิด 19 ยังไม่เข้าสู่โรคประจำถิ่น ขึ้นอยู่กับปัจจัยความพร้อมของแต่ละประเทศ เชื้อยังคงกลายพันธุ์ จึงมีโอกาสที่บางประเทศอาจเกิดการระบาดใหญ่ได้อีก จึงอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ เปิดเศรษฐกิจเต็มที่ จนละเลยการปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันเชื้อ ช่วงนี้จึงถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์ ว่าจะเดินหน้าระบาดใหญ่ต่อ หรือจะลดลง และกลายเป็นโรคประจำถิ่น
“ไทยเป็นอีกประเทศเตรียมเปิดเศรษฐกิจ ในวันที่ 1 พ.ค. มองว่า…เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้า แต่ต้องบริหารจัดการความเสี่ยงโควิดด้วย สิ่งที่เน้น คือการป้องกัน กับการรักษา ลดโอกาสติดเชื้อ และการแพร่ระบาด ทำให้คนติดแต่ไม่มาก ติดแล้วไม่รุนแรง และไม่เสียชีวิต ซึ่งวิธีที่ดีสุด คือการฉีดวัคซีน 2 เข็มหลักไม่พอ ต้องได้เข็มกระตุ้น ตอนนี้ไม่เน้นรักษาใน รพ. คนที่จะเข้า รพ.เฉพาะกลุ่มเสี่ยง รวมถึงผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่สมบูรณ์ จากข้อมูลช่วง 6-8 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า กว่าครึ่งไม่ได้รับวัคซีน ร้อยละ 30 รับวัคซีน แต่ไม่รับเข็มกระตุ้นตามกำหนด และอีกร้อยละ 10 มารับเพียงเข็มเดียว แล้วไม่รับอีก รวมแล้วราวร้อยละ 90 ที่เป็นกลุ่มเพิ่มเติม ในกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อป่วยแล้วต้องเข้า รพ.” หมอประสิทธิ์ ระบุ
นอกจากวัคซีนที่ต้องได้เข็มกระตุ้นตามกำหนดแล้ว จำเป็นต้องคงมาตรการป้องกันตัวส่วนบุคคลสูงสุดตลอดเวลา ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง หมั่นทำความสะอาดมือ ตรวจ ATK เป็นครั้งคราวตามความจำเป็น การที่จะเดินสู่โรคประจำถิ่นได้ ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจาก 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายกำหนดมาตรการและนโยบาย ต้องรอบคอบชัดเจน ฝ่ายที่ดำเนินการตามมาตรการ ต้องมุ่งมั่นร่วมรับผิดชอบ และฝ่ายที่ได้รับผลจากมาตรการ ขณะนี้ไทยเดินมาในทิศทางที่ถูกแล้ว แต่ยังต้องได้รับความร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อไป.