เดินตามแผน 1 ก.ค.65 นำ “โควิด 19″ สู่โรคประจำถิ่น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยไทยเจอสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ตั้งแต่ เม.ย.ที่ผ่านมา มั่นใจ “ไทย” พ้นการแพร่ระบาดใหญ่แล้ว…
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการขับเคลื่อนโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น หลังวันที่ 1 ก.ค. 2565 ว่า ต้องรอให้องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผู้ประกาศ สำหรับประเทศไทยจะใช้คำว่าเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) คือ การระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว โรคลดความรุนแรงลง และระบบสาธารณสุขรองรับได้ แต่ไม่ใช่ว่าหลังวันที่ 1 ก.ค.นี้จะไม่มีโรคแล้ว ยังคงมีอยู่เป็นคลัสเตอร์เล็ก กลาง ใหญ่บ้าง แต่ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม และได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีระบบเฝ้าระวังและเตรียมการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ
โดยการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 ต้องดำเนินการตลอด ขณะนี้ฉีดสะสมเกือบ 140 ล้านโดสแล้ว ประชาชน 60 ล้านคน ได้ฉีดเข็มแรกแล้ว ส่วนจะมีการเป็น Post-Pandemic วันที่ 1 ก.ค.นี้หรือไม่ ยืนยันเป็นไปตามแผน ส่วนเรื่องการรักษาสิทธิกองทุนต่างๆ ก็ครอบคลุมอยู่แล้ว โดยจะมีการหารือกันในเรื่องนี้ต่อไป
สำหรับข้อกังวลเรื่องที่พบสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้นในไทยแต่ยังอนุญาตให้ถอดหน้ากากตามความสมัครใจได้นั้น
“สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ไม่ได้เพิ่งเจอ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการวางระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ และพบมาตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ผ่านไป 3 เดือน ยังไม่พบข้อที่กังวลในเรื่องว่า เชื้อจะแพร่เร็ว เชื้อรุนแรงกว่าเดิม จนเป็นปัญหาทำให้ผู้ป่วยหนักมีเพิ่มขึ้น จากข้อมูลต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ พบ BA.4 และ BA.5 แพร่เร็วกว่าโอมิครอนดั้งเดิม 1.3-1.4 เท่า แต่ประเทศอื่นในยุโรปกลับพบแพร่ได้น้อยกว่า
ดังนั้น เรื่องแพร่เร็วยังไม่มีความชัดเจน แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวกับตัวเชื้ออย่างเดียว แต่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมด้วย ที่ทำให้เกิดการแพร่เร็ว ไทยเองได้เฝ้าระวังว่าจะเกิดเช่นนั้นในประเทศหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจ ไทยพบสัดส่วนร้อยละ 40 ซึ่งส่วนใหญ่พบในคนต่างชาติ ที่เดินทางเข้าไทย อย่างไรก็ตาม พบว่า BA.4 และ BA.5 ทำให้ภูมิต้านทานเชื้อลดลงบ้าง ดังนั้นจึงแนะนำให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่ม” นพ.เกียรติภูมิ ระบุ